คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2689/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งบัญญัติเรื่องการดำเนินคดีอาญาแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไว้เป็นการเฉพาะไม่มีผลใช้บังคับแล้ว แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ และมีข้อกำหนดทำนองเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภาตามจำนวนที่กำหนดมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอว่า กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และเมื่อประธานวุฒิสภาได้รับคำร้องให้ส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) บัญญัติรับรองให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จึงเป็นการกำหนดช่องทางและวิธีการนำคดีอาญาดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาของศาล และกำหนดศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีไว้เป็นการเฉพาะ มีผลเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อศาลตาม ป.วิ.อ.

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 16/2559)

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฐานเป็นพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น และฐานเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการ ป.ป.ช. ปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความเที่ยงธรรม กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83, 84, 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 125
สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกหมายเรียกเอกสารจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แถลงว่าไม่สามารถจัดส่งเอกสารให้ได้ ศาลชั้นต้นไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 231 แล้วมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ยังไม่จำต้องส่งเอกสารตามหมายเรียกเข้าสู่สำนวน
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 ไม่รับอุทธรณ์
โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์อ้างว่า ในคดีอาญาราษฎรเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน คดีนี้ศาลชั้นต้นยังไม่ได้ไต่สวนมูลฟ้องและยังไม่ได้ประทับฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในการส่งเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 231 วรรคท้าย คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา ขอศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นและมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ยื่นคำแถลงประกอบการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ว่า คดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้วและศาลชั้นต้นรับคำฟ้องไว้พิจารณาในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องคำสั่งใดของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ดังนั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ส่งเอกสารให้ตามคำขอของโจทก์ และการที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 ทวิ คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ และเมื่อจำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 มีตำแหน่งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงเป็นคดีอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นหรือยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) กำหนดศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไว้คือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว กระบวนพิจารณานับแต่เสนอคำฟ้องจนถึงการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ จึงเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่รับวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ ให้ยกคำร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่า การดำเนินคดีอาญาแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 ซึ่งบังคับใช้ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ แม้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 ไม่มีผลใช้บังคับแล้ว แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ยังคงมีผลใช้บังคับไป โดยพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 17 มีข้อกำหนดทำนองเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 ที่บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และเมื่อประธานวุฒิสภาได้รับคำร้องแล้ว ให้ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณาพิพากษาโดยมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) บัญญัติรองรับให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งประธานวุฒิสภาส่งคำร้องให้ศาลพิจารณาพิพากษาข้อกล่าวหาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยมีบทบัญญัติในหมวด 4 การดำเนินคดีต่อกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมาตรา 36 ถึงมาตรา 44 กำหนดกระบวนการไต่สวนและการพิจารณาพิพากษาไว้เป็นการเฉพาะ โดยมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมิให้บุคคลผู้ถูกตรวจสอบและไต่สวนหรือได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกลั่นแกล้งฟ้องร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้โดยง่าย เพื่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเสียเวลากับการแก้ข้อกล่าวหาในศาลมากเกินสมควร ทั้งนี้ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต้องเกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมาก ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 4 บัญญัติว่า นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ห้ามมิให้ศาลอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้พิจารณาพิพากษา ดังนั้น บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดช่องทางและวิธีการนำคดีอาญาที่มีการกล่าวหาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการขึ้นสู่การพิจารณาของศาล รวมทั้งกำหนดศาลที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ อันมีผลเป็นการตัดสิทธิของผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาปกติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ต่อศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องชอบแล้ว คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ เพราะไม่อาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 จึงเห็นสมควรพิพากษาคดีไปเลยโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องอีก
พิพากษายกฟ้อง

Share