แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีก่อน โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 เวลากลางวัน จำเลยถูกจับวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 และเหตุรับของโจรเกิดวันที่ 29 มีนาคม 2544 เวลากลางวัน หลังจากที่คนร้ายลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปแล้ว ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 จำเลยถูกจับวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 เวลากลางวัน และเหตุรับของโจรเกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด แม้จำเลยถูกจับทั้งสองคดีในวันเดียวกัน แต่วันถูกจับมิใช่วันกระทำความผิด เมื่อวันเวลากระทำความผิดในคดีก่อนและคดีนี้ทั้งในฐานลักทรัพย์และรับของโจรต่างกัน ทั้งทรัพย์ที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์ของผู้เสียหายคนละคนต่างรายกัน แม้คดีก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยในคดีก่อนและคดีนี้เป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้ย่อมไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357, 92 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย และนับโทษต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ 10095/2544 คดีหมายเลขดำที่ 7341/2544, 8458/2544 และ 8990/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีทั้งหมดที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 3 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี สำหรับความผิดฐานลักทรัพย์ให้ยก นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 10095/2544 และคดีหมายเลขดำที่ 8990/2544 หมายเลขแดงที่ 1698/2545 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อในคดีหมายเลขดำที่ 7341/2544 และ 8458/2544 ของศาลชั้นต้นนั้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลได้มีคำพิพากษาแล้วหรือไม่ จึงให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า เป็นปัญหาฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นี้ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ แต่ในศาลชั้นต้นก็ยกขึ้นฎีกาต่อศาลฎีกาได้ แต่ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยมิได้บรรยายว่าฟ้องโจทก์มีข้อความเคลือบคลุมอย่างไรบ้าง จึงเป็นฎีกาไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อสองมีว่า การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้เป็นกรรมเดียวกับการกระทำความผิดของจำเลยตามคดีหมายเลขแดงที่ 10095/2544 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน คดีถึงที่สุดแล้ว และฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่า คดีดังกล่าวโจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 เวลากลางวัน จำเลยถูกจับวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 และเหตุรับของโจรเกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 เวลากลางวัน หลังจากที่คนร้ายลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปแล้ว ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 จำเลยถูกจับวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 เวลากลางวัน และเหตุรับของโจรเกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2544 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จึงเห็นได้ว่าวันเวลากระทำความผิดใดคดีก่อนและคดีนี้ทั้งในความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจรต่างกันโจทก์จะฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียวกัน หรือจะแยกฟ้องเป็นคนละคดีก็ได้ เมื่อโจทก์แยกฟ้องจำเลยในคดีก่อนและคดีนี้คนละคดีเป็นรายกระทงความผิด และจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจรในชั้นพิจารณาของแต่ละคดี จึงเป็นการรับสารภาพว่ากระทำความผิดฐานรับของโจรในแต่ละคดี ซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระคนละกระทงความผิดกัน ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยถูกจับในวันเดียวกัน และเจ้าพนักงานตำรวจยึดทรัพย์ของผู้เสียหายได้จากจำเลยในคราวเดียวกัน เห็นว่า วันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยถูกจับมิใช่วันกระทำความผิด และทรัพย์ที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์ของผู้เสียหายคนละคนต่างรายการกัน มิใช่ทรัพย์ของผู้เสียหายคนเดียวกันถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดวันเดียวกัน ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพฐานของโจรกับเจ้าพนักงานตำรวจในวันเวลาและสถานที่เดียวกัน และมีเจตนาว่ารับของโจรทั้งหมดนั้น เป็นเพียงคำให้การรับสารภาพของจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนเท่านั้น มิใช่คำให้การจำเลยชั้นพิจารณาในคดีที่โจทก์ได้แยกฟ้องจำเลยเป็นคนละคดีกันแล้ว ซึ่งจำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพฐานรับของโจรในแต่ละคดีคนละคราวกันดังได้วินิจฉัยมาแล้วนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยรับซื้อของโจรทั้งหมดในวันเวลาและสถานที่เดียวกันนั้นโดยสุจริต ไม่ทราบว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกคนร้ายลักมานั้น เป็นการโต้เถียงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพและเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า กากระทำความผิดของจำเลยคดีนี้เป็นกรรมเดียวกันกับการกระทำความผิดของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 10095/2544 ของศาลชั้นต้น และคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี 8 เดือน คดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ แม้คดีก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยในคดีก่อนกับคดีนี้เป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้ย่อมไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามชอบหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ความผิดที่จำเลยต้องรับตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดพิจิตรเป็นความผิดที่ไม่ซ้ำอนุมาตราเดียวกันกับความผิดในคดีนี้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 และมาตรา 93 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ขอให้เพิ่มกึ่งหนึ่งตามมาตรา 93 ซึ่งเป็นกรณีกระทำความผิดซ้ำอนุมาตราเดียวกัน ตามที่ระบุไว้ในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่หรือภายในเวลา 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษ แต่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามมาตรา 92 ซึ่งเป็นกรณีกระทำความผิดใดๆ ในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่หรือภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ดังนั้น แม้ความผิดในคดีนี้กับความผิดในคดีก่อนจะไม่ใช่ความผิดซ้ำอนุมาตราเดียวกันตามที่ระบุไว้ในมาตรา 93 ก็เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามมาตรา 92 ได้โดยชอบ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2542 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2542 และพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระชนมายุครบ 6 รอบ พ.ศ.2542 จำเลยได้รับโทษและพ้นโทษตั้งแต่ปี 2539 แล้วจึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้นั้น ไม่ปรากฏว่ามีพระราชบัญญัติล้างมลทินดังกล่าว จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินตามที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน