คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7020/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคน ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากมูลละเมิดรวมกันมา การพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจะต้องถือตามทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนดังนั้น เมื่อทุนทรัพย์ของโจทก์ที่ 2 ที่เรียกร้องไม่เกิน200,000 บาท คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดี โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม – 0834 อ่างทอง จำเลยที่ 2เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วน จำกัด โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2528 เวลา 5.30นาฬิกา จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนกระทำในทางการที่จ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80 – 2749 สมุทรปราการ ไปตามถนนธนบุรี – ปากท่อมุ่งหน้าสู่จังหวัดสมุทรสงครามด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งแล่นส่วนทางกันได้รับความเสียหายและนายสานิต ธัญญา บุตรของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตายกับโจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายบาดเจ็บสาหัส รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 342,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาตจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80 – 2749สุมทรปราการ วันเกิดเหตุ นายสานิตได้ขับรถยนต์ไปตามธนบุรี- ปากท่อ และโดยความประมาทเป็นเหตุให้รถเสียหลักล้ำเข้าไปในช่องเดินรถสวนพุ่งเข้าชนรถยนต์จำเลยที่ 2 ซึ่งแล่นมาด้วยความเร็วปกติในช่องเดินรถจำเลยที่ 1 ทำให้รถยนต์ที่ 2 เสียหายค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากมูลละเมิดรวมกันมาแต่การพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา จะต้องถือตามทุนทรัพย์ของโจทก์ แต่ละคน ดังนั้นเมื่อทุนทรัพย์ของโจทก์ที่ 2ที่เรียกร้องมานั้นไม่เกิน 200,000 คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1ขับรถโดยประมาท เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหรือ แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถโดยประมาทพิพากษายืน

Share