คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7019/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยกำหนดเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินพิพาท ย่อมทำให้สิทธิต่าง ๆ ที่เกิดจากกรรมสิทธิ์ในที่ดินถูกจำกัดตัดรอน ผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งถูกเขตเดินสายไฟฟ้าพาดผ่านไม่ว่าจะเป็น ส.เจ้าของที่ดินเดิมในขณะที่จำเลยดำเนินการสำรวจ หรือจะเป็นโจทก์ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทมาภายหลังก็ถูกจำกัดตัดรอนสิทธิเหมือนกัน เมื่อ ส.ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่รวมถึงการถูกตัดรอนสิทธิในการใช้ที่ดินดังกล่าวด้วย และเมื่อโจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่จำเลยกำหนดให้ ไม่ว่าโจทก์จะรับหรือไม่รับเงินที่จำเลยฝากไว้กับธนาคารออมสิน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่จำเลยฝากเงินไว้กับธนาคารออมสินตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มาตรา 30 ทวิ ประกอบมาตรา 30 วรรคสาม ทั้งกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติขั้นตอนให้โจทก์มีหน้าที่ต้องโต้แย้งหรืออุทธรณ์คำสั่งของจำเลยก่อนฟ้องคดีในกรณีที่โจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่จำเลยกำหนดต่อคณะกรรมการจ่ายค่าทดแทนของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มได้ ประกอบกับจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้นั้นว่ามากเกินไปหรือไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมแก่สังคมอย่างไร จำเลยจึงต้องใช้เงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นตามจำนวนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้
จำเลยประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 พร้อมทั้งปิดประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ และที่ทำการตำบลก่อนวันสำรวจไม่น้อยกว่า 30 วัน ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่ว่า ส.จะทราบหรือไม่ก็ตาม โดยผลแห่งกฎหมายต้องถือว่าได้มีการประกาศให้ทราบทั่วกันแล้ว ที่ดินพิพาทจึงตกอยู่ในบังคับมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดในเขตเดินสายไฟฟ้าตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง ส่วนปัญหาว่า จำเลยได้มีหนังสือแจ้งแก่ ส.เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกสายไฟฟ้าพาดผ่านทราบเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินที่ถูกเขตเดินสายไฟฟ้าอันจะเป็นละเมิดหรือไม่นั้นก็ไม่เกี่ยวกับโจทก์ เพราะในขณะนั้นโจทก์ยังมิใช่เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์เพิ่งรับโอนที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 และเริ่มถมดินปลูกสร้างบ้านพิพาทวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ภายหลังจากที่จำเลยมีหนังสือแจ้ง ส.นาน 1 ปี ถึง 2 ปี ทั้งเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยได้ลงประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษา และปิดประกาศดังกล่าว ณ ที่ว่าการอำเภอกับที่ทำการตำบลมาแล้ว 3 ปี ถึง 4 ปี ซึ่งหากแม้การกระทำของจำเลยจะเป็นละเมิด ก็คงเป็นละเมิดต่อ ส.ได้เท่านั้น ไม่อาจเป็นละเมิดต่อโจทก์ได้ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องจำเลยในมูลละเมิด อีกทั้งการปลูกสร้างบ้านของโจทก์ในที่ดินพิพาทในเขตเดินสายไฟฟ้าภายหลังการประกาศฯ ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง โดยแจ้งชัดจำเลยจึงมีอำนาจรื้อถอนได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 32 วรรคสอง
แม้ พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มาตรา 32 วรรคสอง จะบัญญัติให้จำเลยมีอำนาจรื้อถอนโรงเรือนหรือสิ่งอื่นที่สร้างขึ้นหรือทำขึ้นตามควรแก่กรณีโดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ให้อำนาจแก่จำเลยไว้เป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาเขตเดินสายส่งไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยโดยไม่ต้องนำคดีมาสู่ศาล อย่างไรก็ตามกรณีโจทก์กับจำเลยยังมีข้อพิพาทกันอยู่ การที่จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์รื้อถอนบ้านออกไปก็เพื่อให้ศาลรับรองอำนาจดังกล่าวของจำเลยและให้จำเลยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลเพื่อยุติข้อโต้แย้งของโจทก์ ซึ่งไม่มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามไว้ จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องแย้งได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 752,980.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 719,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์รื้อถอนบ้านเลขที่ 24/4 ออกไปจากเขตเดินสายไฟฟ้าของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยให้ตกเป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 263,340 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2543 ไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยดังกล่าวต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองศาล เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยข้อแรกตามที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยกำหนดเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินพิพาท ย่อมทำให้สิทธิต่าง ๆ ที่เกิดจากกรรมสิทธิ์ในที่ดินถูกจำกัดตัดรอน ผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งถูกเขตเดินสายไฟฟ้าพาดผ่านไม่ว่าจะเป็นนายเสรีเจ้าของที่ดินเดิมในขณะที่จำเลยดำเนินการสำรวจ หรือจะเป็นโจทก์ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทมาภายหลังก็ถูกจำกัดตัดรอนสิทธิเหมือนกัน เมื่อนายเสรีขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่รวมถึงการถูกตัดรอนสิทธิในการใช้ที่ดินดังกล่าวด้วย และเมื่อโจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่จำเลยกำหนดให้ ไม่ว่าโจทก์จะรับหรือไม่รับเงินที่จำเลยฝากไว้กับธนาคารออมสิน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่จำเลยฝากเงินไว้กับธนาคารออมสินตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ทวิ ประกอบมาตรา 30 วรรคสาม อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติขั้นตอนให้โจทก์มีหน้าที่ต้องโต้แย้งหรืออุทธรณ์คำสั่งของจำเลยก่อนฟ้องคดีในกรณีที่โจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่จำเลยกำหนดต่อคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มได้ ประกอบกับจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้นั้นว่ามากเกินไปหรือไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมแก่สังคมอย่างไร จำเลยจึงต้องใช้เงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นตามจำนวนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไว้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 24/4 จากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยประกาศเรื่องกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากสถานีไฟฟ้าย่อยราชบุรี 3 ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยไทรน้อย ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนพิเศษ 53 ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 พร้อมทั้งปิดประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ และที่ทำการตำบลก่อนวันสำรวจไม่น้อยกว่า 30 วัน ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่ว่านายเสรีจะทราบหรือไม่ก็ตามโดยผลแห่งกฎหมายต้องถือว่าได้มีการประกาศให้ทราบทั่วกันแล้ว ที่ดินพิพาทจึงตกอยู่ในบังคับมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดในเขตเดินสายไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง ส่วนปัญหาว่า จำเลยได้มีหนังสือแจ้งแก่นายเสรีเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกสายไฟฟ้าพาดผ่านทราบเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินที่ถูกเขตเดินสายไฟฟ้าฉบับลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2539 อันจะเป็นละเมิดหรือไม่นั้นก็ไม่เกี่ยวกับโจทก์ เพราะในขณะนั้นโจทก์ยังมิใช่เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์เพิ่งรับโอนที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 และเริ่มถมดินปลูกสร้างบ้านพิพาทวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ภายหลังจากที่จำเลยมีหนังสือแจ้งนายเสรีตามเอกสารหมาย ล.7 นาน 1 ปี ถึง 2 ปี ทั้งเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยได้ลงประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษา และปิดประกาศดังกล่าว ณ ที่ว่าการอำเภอกับที่ทำการตำบลมาแล้ว 3 ปี ถึง 4 ปี ซึ่งหากแม้การกระทำของจำเลยจะเป็นละเมิด ก็คงเป็นละเมิดต่อนายเสรีได้เท่านั้น ไม่อาจเป็นละเมิดต่อโจทก์ได้ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องจำเลยในมูลละเมิดอีกทั้งการปลูกสร้างบ้านของโจทก์ในที่ดินพิพาทในเขตเดินสายไฟฟ้าภายหลังการประกาศฯดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง โดยแจ้งชัด จำเลยจึงมีอำนาจรื้อถอนได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 32 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 24/4 จากจำเลย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยฟ้องแย้งขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์รื้อถอนบ้านเลขที่ 24/4 ของโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติให้จำเลยมีอำนาจรื้อถอนโรงเรือนหรือสิ่งอื่นที่สร้างขึ้นหรือทำขึ้นตามควรแก่กรณีโดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ให้อำนาจแก่จำเลยไว้เป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาเขตเดินสายส่งไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยโดยไม่ต้องนำคดีมาสู่ศาล อย่างไรก็ตามกรณีโจทก์กับจำเลยยังมีข้อพิพาทโต้แย้งกันอยู่ การที่จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์รื้อถอนบ้านดังกล่าวก็เพื่อให้ศาลรับรองอำนาจดังกล่าวของจำเลยและให้จำเลยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลเพื่อยุติข้อโต้แย้งของโจทก์ ซึ่งไม่มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามไว้ ดังนั้น จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องแย้งขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์รื้อถอนโรงเรือนดังกล่าวออกไปจากเขตเดินสายส่งไฟฟ้าได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์รื้อถอนบ้านเลขที่ 24/4 ตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี ออกไปจากเขตเดินสายไฟฟ้าของจำเลย โดยจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้าง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share