คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7011/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ห.ได้ขายและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ถือได้ว่า ห. สละเจตนายึดถือการครอบครอง การครอบครองของ ห. ย่อมสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคแรก แม้โจทก์ได้ซื้อและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน โจทก์ก็ไม่ได้สิทธิครอบครองเนื่องจากถูกจำกัดสิทธิโดยบทบัญญัติแห่ง ป.ที่ดิน มาตรา 31 แต่เมื่อโจทก์ได้ครอบครองมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองและห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่เข้าเกี่ยวข้องและรบกวนการครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 1134 ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันไปจดทะเบียนโอนชื่อทางทะเบียนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่กำหนด และจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางจันทร์หอมหรือหอม สุทธิวิเศษ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 1134 ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เกี่ยวข้องและรบกวนการครอบครองที่ดินดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า การที่นางหอมได้ขายและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ จึงถือว่านางหอมสละเจตนาครอบครองโดยไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป การครอบครองที่ดินพิพาทของนางหอมย่อมสิ้นสุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคแรก แม้โจทก์ได้ซื้อและยึดถือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนต่อมาในระยะเวลาห้ามโอน โจทก์ก็ยังไม่ได้สิทธิครอบครอง เนื่องจากถูกจำกัดสิทธิโดยบทบัญญัติแห่ง ป. ที่ดิน มาตรา 31 แต่เมื่อโจทก์ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนล่วงเลยระยะเวลาห้ามโอนแล้ว โจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนนั้น คือภายหลังวันที่ 27 มกราคม 2529 โจทก์ซึ่งมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนดังกล่าวจึงมีสิทธิที่จะหวงห้ามมิให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมารบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ ทั้งมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1374 วรรคแรก เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าเกี่ยวข้องและรบกวนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องห้ามจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิให้กระทำการดังกล่าวแล้วได้ ส่วนที่จำเลยร่วมฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากทายาทของนางหอมดังฎีกาของจำเลยร่วมไม่ หากแต่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องร้องจากสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ ป.พ.พ. มาตรา 1374 บัญญัติรับรองอำนาจฟ้องของโจทก์ไว้ และกรณีของโจทก์ก็มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของนางหอมและต่อมาได้เปลี่ยนลักษณะการครอบครองเป็นการครอบครองเพื่อตนเองไม่เพราะนางหอมได้สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว การครอบครองของนางหอมย่อมสิ้นสุดลง เมื่อนางหอมถึงแก่ความตายจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่จะตกทอดให้ทายาทสืบสิทธิครอบครองได้อีก โจทก์มิได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของนางหอม หากแต่ยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนจนได้สิทธิครอบครองนับตั้งแต่พ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยร่วมจึงไม่อาจอ้างสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง และมาตรา 1381 มาใช้บังคับแก่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share