คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 548/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าจากการที่โจทก์ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยให้การว่าโจทก์ซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยมีเจตนามุ่งในทางการค้าหรือหากำไร คดีจึงมีประเด็นโต้เถียงว่ากรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นโจทก์ได้รับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรหรือไม่ และสำหรับกรณีภาษีการค้านั้น โจทก์มีรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 43091 ตำบลมหาพฤฒาราม พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์โดยมีเจตนามุ่งในทางการค้าหรือหากำไรหรือไม่ เป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และ มาตรา 183 เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปตามประเด็นที่ถูกต้องได้ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพิพากษาใหม่
เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48(4) นั้น มุ่งหมายถึงเจตนาในการได้มาเป็นข้อสำคัญและพิจารณาถึงพฤติการณ์ในระหว่างที่ผู้นั้นถือครองอยู่ก่อนที่จะขายและขณะที่ขายเป็นส่วนประกอบด้วย การที่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแล้วขายไปในระยะเวลาเพียงสามปีเศษ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่สั้นแล้วยังปรากฏว่าเมื่อโจทก์ได้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือหาประโยชน์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้น ทั้งมีบุคคลอื่นอาศัยอยู่โดยมิได้จ่ายค่าเช่าแก่โจทก์แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเพื่ออยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ นอกจากนี้ในระหว่างที่โจทก์ถือครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาท โจทก์ซื้อและขายที่ดินแปลงอื่นอีกหลายแปลง เมื่อพิจารณาถึงเจตนาการได้มาซึ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทของโจทก์ประกอบกับพฤติการณ์ต่าง ๆ ในระหว่างที่โจทก์ถือครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทอยู่ก่อนที่จะขายและขณะที่ขายแล้ว น่าเชื่อว่าโจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทไว้โดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ดังนั้น ในการคำนวณภาษีเงินได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่เสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรมาตรา 78 วรรคหนึ่ง และมาตรา 86 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานรายการใดที่โจทก์ไม่เห็นด้วย โจทก์จะต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยจะต้องมีข้อความโต้แย้งคัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินว่า ประเมินภาษีไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอย่างใดมีหลักฐานอย่างไร เมื่อคำอุทธรณ์ของโจทก์ไม่มีข้อความโต้แย้งการประเมินในประเด็นใด โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องในประเด็นนั้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2)ซึ่งในชั้นอุทธรณ์การประเมิน โจทก์มิได้ยกปัญหาว่าจำเลยมิได้นำภาษีหัก ณ ที่จ่ายมาหักเป็นค่าใช้จ่ายแก่โจทก์ด้วย แสดงว่าโจทก์พอใจการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในรายการนั้นแล้ว ดังนี้โจทก์จะนำประเด็นดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลหาได้ไม่ปัญหานี้แม้ศาลภาษีอากรกลางจะวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วในศาลล่างโดยชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
การเรียกเก็บเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27,89 ทวิ ไม่มีข้อยกเว้นให้งดเก็บ หากจะลดก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเบี้ยปรับและเงินเพิ่มและหนังสือแจ้งให้โจทก์เสียภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่น โจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องจึงได้อุทธรณ์การประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้ว ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้าวินิจฉัยว่าโจทก์ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคา 10,000,000 บาท จึงต้องรับผิดเสียภาษีการค้าจากยอดดังกล่าว ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และขอให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมทั้งให้จำเลยที่ 1คืนหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ได้นำไปวางไว้กับจำเลยที่ 1 เพื่อทุเลาการชำระภาษี

จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาถึงวันที่ขายไปเป็นเวลา 3 ปีเศษ โดยโจทก์มิได้มีความมุ่งหมายที่จะใช้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัย จึงเป็นการแสวงหากำไรอย่างแจ้งชัด โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและวินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากการประเมินมีทั้งส่วนที่ประเมินรายได้จากการที่โจทก์ขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและส่วนที่โจทก์ค้าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในส่วนการประเมินรายได้จากการขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปนั้น โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมิน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า โจทก์ประกอบการค้าขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปตั้งแต่ปี 2525 ต่อมาวันที่ 8 กันยายน 2531 โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 43091 ตำบลมหาพฤฒาราม (บางรัก) อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร ในราคา 7,750,000 บาท จากนายวิชัย รัตนพฤกษา น้องภริยาของโจทก์และขายไปในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2534 ในราคา 10,000,000 บาท ต่อมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ดังกล่าวแล้วขายไปในระยะเวลาประมาณ 3 ปี เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์โดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร จึงประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 1,831,335.60 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 22 กับเรียกเก็บภาษีการค้าเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นอีกรวมเป็นเงิน1,086,882 บาท ตาหนังสือแจ้งภาษีการค้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 28 โจทก์อุทธรณ์การประเมินตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 34 ถึง 37 และ 62 ถึง 65 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนภาษีการค้าโจทก์ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคา 10,000,000 บาท จึงต้องรับผิดเสียภาษีการค้าในยอดดังกล่าวและให้โจทก์เสียภาษีการค้า เบี้ยปรับเงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่นเป็นเงิน 941,325 บาท ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 14ถึง 19 โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย จึงฟ้องเป็นคดีนี้ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าจากการที่โจทก์ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยมีเจตนามุ่งในทางการค้าหรือหากำไร คดีจึงมีประเด็นที่โต้เถียงกันว่ากรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น โจทก์ได้รับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรหรือไม่ และสำหรับกรณีภาษีการค้านั้น โจทก์มีรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การขายที่ดินโฉนดเลขที่ 43091 ตำบลมหาพฤฒาราม (บางรัก) อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์โดยมีเจตนามุ่งในทางการค้าหรือหากำไรหรือไม่ เป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ไม่ถูกต้องตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลย ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และมาตรา 183 เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปตามประเด็นที่ถูกต้องได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ คดีคงมีประเด็นข้อพิพาทว่ากรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโจทก์ได้รับเงินได้จากการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรหรือไม่ และกรณีภาษีการค้าโจทก์มีรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ เห็นว่า เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 48(4)หรือไม่นั้น มุ่งหมายถึงเจตนาในการได้มาเป็นข้อสำคัญ และพิจารณาถึงพฤติการณ์ในระหว่างที่ผู้นั้นถือครองอยู่ก่อนที่จะขายและขณะที่ขายเป็นส่วนประกอบด้วย การที่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแล้วขายไปในระยะเวลาเพียงสามปีเศษซึ่งถือว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่สั้นแล้วยังปรากฏว่าตามอุทธรณ์ของโจทก์นั้น โจทก์ยอมรับว่าเมื่อโจทก์ได้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือหาประโยชน์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้น นายวิชัยและครอบครัวคงอยู่อาศัยต่อไปโดยมิได้จ่ายค่าเช่าแก่โจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเพื่ออยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ซึ่งขัดแย้งกับข้ออ้างที่โจทก์อ้างในคำอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 35 ว่าโจทก์ตั้งใจจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยเนื่องจากที่อยู่เดิมคับแคบ โดยได้ย้ายลูกหลานและบริวารบางส่วนเข้าไปเพื่ออยู่อาศัย และที่โจทก์กล่าวอ้างและนำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทจากน้องของภริยาโจทก์ เพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่น้องและมารดาของภริยาโจทก์เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนในธุรกิจเพชรพลอยเป็นหนี้ธนาคารและบุคคลภายนอกหลายรายนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเป็นเงิน 4,000,000 บาท แสดงให้เห็นว่า ขณะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาท โจทก์ไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทได้ การที่โจทก์ยอมรับภาระเป็นหนี้บุคคลอื่นโดยมีเจตนาเพียงเพื่อจะช่วยเหลือน้องและมารดาของภริยาโจทก์ จึงเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของบุคคลทั่วไปที่จะกระทำเช่นนั้น นอกจากนี้ในระหว่างที่โจทก์ถือครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาท โจทก์ซื้อและขายที่ดินแปลงอื่นอีกหลายแปลง ประกอบกับขณะที่โจทก์ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาท โจทก์กล่าวอ้างและนำสืบว่าโจทก์ต้องการใช้เงินและทนรับภาระดอกเบี้ยไม่ไหวนั้น เมื่อได้ตรวจสอบบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3แผ่นที่ 2 ถึง 4 ในวันที่ 3 กันยายน 2533 ปรากฏว่า โจทก์ไม่ได้เป็นหนี้ธนาคาร ดังนั้นการที่โจทก์ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทจึงมิใช่เพราะเหตุโจทก์ต้องการเงินและทนรับภาระดอกเบี้ยไม่ไหว เมื่อพิจารณาถึงเจตนาการได้มาซึ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทของโจทก์ ประกอบกับพฤติการณ์ต่าง ๆ ในระหว่างที่โจทก์ถือครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทอยู่ก่อนที่จะขายและขณะที่ขายแล้ว พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวน่าเชื่อว่าโจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทไว้โดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร มิใช่เพื่อต้องการช่วยเหลือทางการเงินแก่น้องและมารดาของภริยาโจทก์เพียงอย่างเดียว เงินได้ที่โจทก์ได้มาจากการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทจึงเป็นเงินได้ที่โจทก์ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรในการคำนวณภาษีเงินได้ดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และสำหรับกรณีภาษีการค้านั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทไว้โดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร การที่โจทก์ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทจึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่เสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 วรรคหนึ่งและมาตรา 86 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 714,529 บาท จำเลยไม่นำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายให้โจทก์นั้น เห็นว่า การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานรายการใดที่โจทก์ไม่เห็นด้วยโจทก์จะต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยจะต้องมีข้อความโต้แย้งคัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินว่าประเมินภาษีไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอย่างใด มีหลักฐานอย่างไร เมื่อคำอุทธรณ์ของโจทก์ไม่มีข้อความโต้แย้งการประเมินในประเด็นใด โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องในประเด็นนั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) ซึ่งในชั้นอุทธรณ์การประเมิน โจทก์มิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 34 ถึง 37 แสดงว่าโจทก์พอใจการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในรายการนั้นแล้ว ดังนี้โจทก์จะนำประเด็นดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลหาได้ไม่ ปัญหานี้แม้ศาลภาษีอากรกลางจะวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วในศาลล่างโดยชอบ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษี พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้และอุทธรณ์ของโจทก์ในประการสุดท้ายที่ว่ามีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือไม่ เห็นว่า สำหรับเบี้ยปรับนั้น โจทก์ซื้ออสังหาริมทรัพย์มาและขายไปในระยะสั้น ๆ หลายครั้งเพื่อเก็งกำไร แต่กลับไม่ยอมเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งมีพฤติการณ์ในการให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกลับไปกลับมาไม่ตรงกันแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ไม่สุจริตในการชำระภาษีให้ถูกต้องตามความจริงการที่โจทก์ได้รับการลดเบี้ยปรับร้อยละ 50 จึงเป็นคุณแก่โจทก์มากอยู่แล้ว ในส่วนของเงินเพิ่มนั้นการเรียกเก็บเงินเพิ่มเนื่องจากผู้ต้องเสียภาษีภายในกำหนดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 27 และ มาตรา 89 ทวิ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กฎหมายกำหนดไว้แน่นอนโดยไม่มีข้อยกเว้นให้งดเก็บเสียได้ และจะลดได้ก็จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ศาลจึงไม่อาจพิจารณาลดหรืองดให้ได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share