แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์มีคำขอให้ริบไม้และเลื่อยยนต์ของกลางที่จำเลยได้มาจากการกระทำความผิดและใช้ในการกระทำความผิด แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำวินิจฉัยว่าจะริบหรือไม่ริบของกลางดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และการริบทรัพย์สินแม้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 จะบัญญัติว่าเป็นโทษสถานหนึ่ง แต่เป็นโทษที่มุ่งถึงตัวทรัพย์เป็นสำคัญต่างกับโทษสถานอื่นซึ่งแม้จำเลยจะไม่ได้กระทำความผิดหรือกระทำความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ ศาลก็มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินของกลางได้ จึงมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ย่อมมีอำนาจสั่งริบของกลางได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำไม้ ไม้ขนุนปาน ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในป่าบ้านเขารถ ซึ่งอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติและในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยตัดโค่น ฟันออกจากต้น แล้วทอนเป็นท่อน ๆ รวม 3 ท่อน ปริมาตร 25.45 ลูกบาศก์เมตร เกินสี่ลูกบาศก์เมตร อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และมิได้รับสัมปทานตามกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดเลื่อยยนต์ หมายเลข 6520794 จำนวน 1 เครื่อง และไม้ขนุนปาน 3 ท่อนซึ่งจำเลยใช้เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ในการกระทำความผิด และได้มาจากการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 7, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 33, 38, 54, 57 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 73, 74, 74 ทวิ ริบไม้และเลื่อยยนต์ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 31 วรรคสอง (2)) พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 73 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 73 วรรคสอง (2) อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ริบไม้และเลื่อยยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ริบของกลางและการริบของกลางเป็นโทษสถานหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้ริบของกลางจึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยและเกินคำขอ นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีคำขอให้ริบของกลางคือไม้และเลื่อยยนต์ ที่จำเลยได้มาจากการกระทำความผิดและใช้ในการกระทำความผิด แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำวินิจฉัยว่าจะริบหรือไม่ริบของกลางดังกล่าว คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และการริบทรัพย์สินนี้แม้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 จะบัญญัติว่าเป็นโทษสถานหนึ่ง แต่เป็นโทษที่มุ่งถึงตัวทรัพย์เป็นสำคัญต่างกับโทษสถานอื่นซึ่งแม้จำเลยจะไม่ได้กระทำความผิดหรือกระทำความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ ศาลก็มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินของกลางได้ จึงมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ย่อมมีอำนาจสั่งริบของกลางได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน