แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดตกลงยินยอมเปลี่ยนลักษณะงานจากการทำงานคัดแยกปลาและตัดหัวปลาในแพปลามาเป็นการทำงานเป็นลูกเรือบนเรือประมง แม้ถูกไต้ก๋งเรือบางคนบังคับขู่เข็ญให้ทำงานก็เป็นลักษณะนิสัยใจคอของไต้ก๋งเรือแต่ละคน ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดถูกบังคับขู่เข็ญให้ทำงาน และเป็นเรื่องปกติที่เรือประมงซึ่งไปหาปลานอกน่านน้ำไทยต้องล่องทะเลหาปลาเป็นเวลานานจึงจะกลับเข้าฝั่ง และการที่ไต้ก๋งเรือเก็บหนังสือเดินทางของโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดไว้เพื่อความสะดวกในการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบระหว่างเดินทางก็เป็นวิธีปฏิบัติที่เรือประมงโดยทั่วไปกระทำกัน มิใช่เพื่อป้องกันมิให้โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดหลบหนี ส่วนค่าจ้างโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดตกลงให้ น. และ ก. รับเงินค่าจ้างแทนเพื่อนำไปส่งให้แก่ครอบครัวของแต่ละคนที่ประเทศกัมพูชาแล้วถ่ายรูปส่งให้โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดดูระหว่างที่ทำงานอยู่บนเรือประมง โดยมีการนำเงินค่าจ้างส่งให้จริง และหลังเกิดเหตุตัวแทนของ ค. เจ้าของเรือประมงได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดแล้ว เพียงแต่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดยังโต้แย้งว่ามีค่าแรงในการทำงานวันหยุดและค่าแรงการทำงานล่วงเวลาต้องจ่ายเพิ่มอีก จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กับพวกหลอกลวงโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดและเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยการบังคับใช้แรงงานโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ด
ย่อยาว
คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีหมายเลขแดงที่ คม.3/2560 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนนี้ว่า จำเลยที่ 2 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 7, 9 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 10, 11, 52 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 309, 310, 310 ทวิ นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ คม.3/2559 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309, 310, 310 ทวิ ประกอบมาตรา 83 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตในความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วย โดยให้เรียกผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 11 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า ก่อนเกิดเหตุเรือประมง ก. นาวามงคลชัย 1 มีนางคำนึงนวล เป็นเจ้าของ จอดเทียบท่าอยู่ที่บริเวณท่าเรือในจังหวัดสมุทรสาครติดกับโรงไม้ของจำเลยที่ 2 ต่อมาเรือประมงดังกล่าวออกจากฝั่งไปหาปลาในน่านน้ำไทยและน่านน้ำสากล โดยมีโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดคนสัญชาติกัมพูชาทำงานเป็นลูกเรืออยู่บนเรือประมงดังกล่าวเป็นเวลาประมาณ 13 เดือน จนกระทั่งวันที่ 21 มกราคม 2559 จำเลยที่ 1 ได้ควบคุมเรือกลับเข้าฝั่งประเทศไทยที่จังหวัดระนอง จากนั้นทีมสหวิชาชีพสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จังหวัดระนอง สัมภาษณ์โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดแล้ว มีความเห็นว่า โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ พนักงานสอบสวนจึงดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และได้ลงมือกระทำความผิดตามที่ได้สมคบกัน ร่วมกันค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปโดยการบังคับใช้แรงงาน ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้ถูกข่มขืนใจ หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดไม่ฎีกา คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน เรือประมง ก. นาวามงคลชัย 1 จอดเทียบท่าอยู่ที่บริเวณท่าเรือในจังหวัดสมุทรสาครติดกับโรงไม้ของจำเลยที่ 2 โดยนายนางเป็นผู้พาโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 11 จากประเทศกัมพูชาเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยให้พักอาศัยอยู่บนเรือประมง ก. นาวามงคลชัย 1 ส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 สมัครใจมาทำงานเป็นลูกเรือประมงและพักอาศัยอยู่บนเรือประมง ก. นาวามงคลชัย 1 เช่นกัน ซึ่งขณะโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดพักอาศัยอยู่บนเรือประมงดังกล่าว โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดเบิกความว่าไม่ได้ถูกควบคุมหรือคุมขัง แต่ยังคงไปไหนมาไหนได้โดยอิสระ เพราะโรงไม้ของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ปิดประตูและไม่มีคนเฝ้า โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดจึงสามารถออกจากเรือประมงที่พักผ่านโรงไม้ของจำเลยที่ 2 ออกไปด้านนอกได้โดยสะดวกและยังเคยไปเที่ยวงานวัดโดยไม่ต้องขออนุญาตใครอีกด้วย แสดงว่าขณะที่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดพักอาศัยอยู่บนเรือประมง ก. นาวามงคลชัย 1 นั้น มิได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังให้อยู่แต่ในเรือแต่อย่างใด คงมีอิสระที่จะไปไหนมาไหนได้โดยสะดวก แม้ต่อมาโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 7 และที่ 11 กับนายทีเรทและนายเพงจะหลบหนีออกจากเรือเพื่อจะให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและส่งตัวกลับไปยังประเทศกัมพูชา แต่ได้ความจากคำเบิกความของดาบตำรวจเอกพจน์ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสงคราม พยานจำเลยทั้งสองว่า ขณะพยานปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกในด้านการจราจรที่บริเวณหน้าโรงเรียนสารสาสน์ เห็นมีกลุ่มชายประมาณ 10 คน กำลังเดินข้ามสะพานแม่น้ำแม่กลอง ถนนพระรามที่ 2 มุ่งหน้ากรุงเทพมหานคร และเห็นรถกระบะคันหนึ่งขับผ่านมา คนในรถโบกไม้โบกมือเรียกกลุ่มชายดังกล่าวขึ้นรถทั้งหมด จากนั้นนายพรชัย ลูกจ้างของนางคำนึงนวลลงจากรถกระบะเดินมาหาพยานบอกว่า กลุ่มชายดังกล่าวเป็นชาวกัมพูชาลูกน้องของนางคำนึงนวลจะไปทำงานเป็นลูกเรือประมงแต่ยังไม่ได้ทำงานจึงอยากกลับบ้าน โดยกลุ่มชายดังกล่าวไม่ได้แสดงอากัปกิริยาเพื่อให้พยานช่วยเหลือ พยานจึงไม่สงสัยอะไรและปฏิบัติหน้าที่งานจราจรต่อไป ทั้งโจทก์ร่วมที่ 7 ยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านอีกว่า หลังจากนายเพงกลับมาที่เรือประมง ก. นาวามงคลชัย 1 แล้ว นายเพงขออนุญาตนายนางเดินทางกลับประเทศกัมพูชาเพราะบิดาป่วย ปรากฏว่านายนางไม่ขัดข้องโดยอนุญาตให้นายเพงเดินทางกลับไปยังประเทศกัมพูชาได้ ซึ่งถ้าหากนายนางพาโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 11 มาขายให้แก่จำเลยที่ 2 จริงดังที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 11 เบิกความ ก็ไม่น่าเชื่อว่านายนางจะยอมให้นายเพงเดินทางกลับไปประเทศกัมพูชาได้ เพราะนายเพงอาจนำความไปบอกครอบครัวของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 11 อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นายนาง นางคำนึงนวล และจำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีก็เป็นได้ และแม้โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดจะเบิกความต่อไปว่า โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อต้องการทำงานคัดแยกปลาและตัดหัวปลาในแพปลา มิใช่ต้องการทำงานเป็นลูกเรือบนเรือประมง แต่เมื่อนายนางพาโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 11 มาพักอาศัยอยู่บนเรือประมง ก. นาวามงคลชัย 1 เป็นแรมเดือนโดยยังมิได้ทำงานคัดแยกปลาและตัดหัวปลาในแพปลา กับนายนางยังพาโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 11 ไปซื้อของใช้ส่วนตัวเป็นเงินคนละ 2,000 ถึง 3,000 บาท มากักตุนไว้ จึงมีเหตุให้เชื่อว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 11 ย่อมรู้ตั้งแต่นั้นแล้วว่าการซื้อของใช้มากมายมากักตุนเช่นนี้ก็เพื่อนำติดตัวไปใช้บนเรือประมงเพราะเรือต้องออกทะเลหาปลาเป็นเวลานานกว่าจะกลับเข้าฝั่ง หาใช่นำไปใช้ในการคัดแยกปลาและตัดหัวปลาที่แพปลาเพราะเป็นการทำงานบนชายฝั่งแต่อย่างใดไม่ นอกจากนี้ก่อนที่เรือประมง ก. นาวามงคลชัย 1 จะเดินทางออกจากฝั่งไปล่องทะเลหาปลา ได้ความจากคำเบิกความของดาบตำรวจพิเชษฐ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสมุทรสาคร พยานจำเลยทั้งสองว่า ก่อนที่พยานจะปล่อยเรือประมง ก. นาวามงคลชัย 1 เดินทางออกจากฝั่งที่ท่าเทียบเรือในจังหวัดสมุทรสาคร พยานตรวจดูลูกเรือประมงทุกคนแล้ว ปรากฏว่ามีใบหน้าและรายชื่อตรงกับหนังสือเดินทางและหนังสือคนประจำเรือ และยังสอบถามลูกเรือผ่านล่ามแล้วทุกคนบอกว่าจะเดินทางไปประเทศปาปัวนิวกินี แต่จะไปนานเท่าใดพยานจำไม่ได้ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีลูกเรือคนใดแสดงอากัปกิริยาท่าทีขัดขืนไม่ยอมลงเรือประมงดังกล่าว โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดลงเรือประมงที่มีอุปกรณ์หาปลาและมีอวนอยู่ในเรือ โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดควรจะทราบว่าเรือลำดังกล่าวเป็นเรือประมงที่ต้องออกหาปลามิใช่เรือโดยสาร การที่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดยินยอมลงเรือโดยมิได้ทักท้วงและเจ้าหน้าที่สอบถามโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดถึงความสมัครใจในการทำงานบนเรือประมงแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดตกลงยินยอมเปลี่ยนลักษณะงานจากการทำงานคัดแยกปลาและตัดหัวปลาในแพปลามาเป็นการทำงานเป็นลูกเรือบนเรือประมงดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดจะเบิกความว่า การทำงานเป็นลูกเรือบนเรือประมง ก. นาวามงคลชัย 1 ถูกไต้ก๋งเรือบังคับให้ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ถูกดุด่าและตีทำร้ายให้ทำงาน 22 ชั่วโมง ต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 13 เดือน แต่ก็ได้ความจากโจทก์ร่วมที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า ระหว่างที่เรือออกเดินทางไปประเทศปาปัวนิวกินี โจทก์ร่วมที่ 1 มีอิสระภายในเรือเดินไปไหนมาไหนได้ มีพ่อครัวทำอาหารให้รับประทาน เมื่อเรือแม่มารับปลาจะนำอาหารสด เช่น หมู ไก่ ปลาและผักต่าง ๆ มาส่ง รวมทั้งโจทก์ร่วมที่ 1 สามารถสั่งอาหารอื่น ๆ กับเรือแม่ได้ เวลาว่างเมื่อเรือทอดสมอเคยเห็นลูกเรือคนอื่น ๆ นั่งตกปลา โจทก์ร่วมที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า ระหว่างที่เรือแล่นในทะเล โจทก์ร่วมที่ 2 ตกหมึกได้เก็บไว้รับประทานเอง ส่วนลูกเรือคนอื่น ๆ ตกหมึกได้จะขายให้แก่เรือที่แล่นผ่านไปมาและเก็บเงินที่ขายได้เป็นรายได้ส่วนตัว และโจทก์ร่วมที่ 3 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า เมื่อลงอวนลอยเสร็จแล้วจะใช้เวลา 3 ชั่วโมง จึงจะยกอวนขึ้น ช่วงเวลาลงอวนจนถึงเวลาเก็บอวน โจทก์ร่วมที่ 3 จะนอนพักผ่อนโดยมีเวลาพักผ่อนประมาณ 8 ชั่วโมง และในช่วงเวลา 13 เดือน มีเวลาประมาณ 4 เดือนที่ไม่ได้ลงอวนจับปลา คงซ่อมอวนบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงแสดงให้เห็นว่าโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดมิได้ทำงานตลอดเวลาโดยไม่ได้พักผ่อนหรือมีเวลาพักผ่อนเพียง 2 ชั่วโมง ต่อวัน ดังที่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดเบิกความ เพราะโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดยังมีเวลาพักผ่อนในช่วงเวลาตอนที่มิได้ลงอวนหาปลา หรือมีบางช่วงบางเวลาที่โจทก์ร่วมบางคนใช้เวลาพักผ่อนด้วยการตกปลา ซึ่งหากกรณีเป็นจริงดังที่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดอ้างว่าต้องทำงาน 22 ชั่วโมง ต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 13 เดือนแล้ว ตามสภาพร่างกายของคนโดยทั่วไป หากทำงานหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานานร่างกายย่อมต้องอ่อนเพลียและไม่สามารถทนต่อสภาพการทำงานและความเป็นอยู่แบบนั้นได้ ส่วนกรณีที่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดถูกไต้ก๋งเรือบังคับขู่เข็ญให้ทำงาน แม้จะได้ความจากโจทก์ร่วมที่ 4 และที่ 5 ว่า โจทก์ร่วมที่ 4 ถูกไต้ก๋งเรือคนที่ 1 ใช้ไม้ตีที่หลังอย่างแรง ส่วนโจทก์ร่วมที่ 5 ถูกตี 1 ครั้ง ในช่วงที่เริ่มทำงานใหม่ ๆ แต่เหตุที่ถูกตีเนื่องจากทำงานช้า และเมื่อเริ่มทำงานดีขึ้นไม่มีความผิดพลาดก็ไม่เคยถูกตีอีก โจทก์ร่วมนอกจากนี้ก็เบิกความว่าไม่เคยถูกไต้ก๋งเรือตีทำร้าย ยิ่งไปกว่านั้นโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดเบิกความสอดคล้องกันว่าไต้ก๋งเรือคนที่ 3 คือจำเลยที่ 1 มีจิตใจดีงาม ไม่เคยดุด่าและตีทำร้าย หากมีใครเจ็บป่วยก็จะนำยามาให้รับประทาน รวมทั้งยามว่างจากการทำงานก็อนุญาตให้ลูกเรือพักผ่อนด้วยการฟังเพลงหรือดูโทรทัศน์ในห้องของไต้ก๋งเรือได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าการดุด่าหรือทำร้ายบังคับลูกเรือให้ทำงานเป็นลักษณะนิสัยใจคอของไต้ก๋งเรือแต่ละคนมากกว่า จึงฟังไม่ได้โดยสนิทใจว่าโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดถูกบังคับขู่เข็ญให้ทำงาน และที่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดอ้างว่าถูกบังคับให้อยู่ในเรือโดยมิได้กลับเข้าฝั่งและถูกเก็บหนังสือเดินทางไว้ไม่ให้หนีไปไหนนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของนายอภิสิทธิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย พยานจำเลยทั้งสองว่า เมื่อเรือประมงออกจากฝั่งไปหาปลาในทะเลนอกน่านน้ำไทยเป็นระยะทางไกลและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพื่อความคุ้มทุนเรือประมงจึงต้องล่องทะเลหาปลาอยู่เป็นระยะเวลานานจึงจะกลับเข้าฝั่งสักครั้ง และหนังสือเดินทางของลูกเรือไต้ก๋งเรือต้องเก็บไว้เพื่อความสะดวกในการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบระหว่างเดินทาง เพราะหากหนังสือเดินทางสูญหายลูกเรืออาจถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีได้ ฉะนั้นการที่เรือประมง ก. นาวามงคลชัย 1 ออกทะเลหาปลาเป็นเวลา 13 เดือน จึงกลับเข้าฝั่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ และการที่ไต้ก๋งเรือเป็นผู้เก็บหนังสือเดินทางของโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดไว้ ก็เป็นวิธีปฏิบัติที่เรือประมงโดยทั่วไปกระทำกัน มิใช่เพื่อป้องกันมิให้โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดหลบหนีแต่อย่างใด สำหรับเรื่องค่าจ้าง แม้โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดจะเบิกความว่า ตั้งแต่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดทำงานบนเรือประมง ก. นาวามงคลชัย 1 ไม่เคยได้รับค่าจ้างเลยแม้แต่น้อย แต่การที่นายนางเป็นผู้ทำหนังสือเดินทางและพาโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 11 เดินทางจากประเทศกัมพูชาเข้ามาในประเทศไทย กับทั้งพาไปซื้อของใช้ส่วนตัวมากักตุนไว้ย่อมมีค่าใช้จ่าย นายพรชัยลูกจ้างของนางคำนึงนวล พยานจำเลยทั้งสองก็เบิกความเกี่ยวกับเรื่องค่าจ้างของโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดว่า โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดตกลงให้นายนางและนายแก้วเป็นคนรับเงินค่าจ้างแทนเพื่อนำไปส่งให้แก่ครอบครัวของแต่ละคนที่ประเทศกัมพูชาแล้วถ่ายรูปมาให้พยานเพื่อส่งให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดดูระหว่างที่ทำงานอยู่บนเรือประมง โดยในข้อนี้นางจาบ มารดาโจทก์ร่วมที่ 3 ที่ 7 และที่ 11 กับนายตุ้ย บิดาโจทก์ร่วมที่ 10 พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดก็เบิกความยอมรับว่า นายนางได้นำเงินค่าจ้างของโจทก์ร่วมที่ 3 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 11 ไปมอบให้แก่นางจาบและนายตุ้ยจริง ทั้งโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดเบิกความเจือสมกับนางสาวชนาวรรณ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระนอง พยานจำเลยทั้งสองว่า ภายหลังเกิดเหตุมีตัวแทนของนางคำนึงนวลนำเงินค่าจ้างคนละ 25,000 บาท ไปมอบให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดจริง เพียงแต่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดโต้แย้งว่าเป็นเงินค่าจ้างที่ไม่ถูกต้องเพราะยังมีค่าแรงในการทำงานวันหยุดและค่าแรงในการทำงานล่วงเวลาที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกด้วย ดังนี้ จึงบ่งชี้ให้เห็นว่า นางคำนึงนวลได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดไปแล้วจริง เพียงแต่โจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดยังไม่พอใจในจำนวนเงินของค่าจ้างดังกล่าวเท่านั้น นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดก็มิได้นำสืบให้เห็นถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายนางและนางคำนึงนวลแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดี จำเลยที่ 2 ก็ให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสิบเอ็ดที่นำสืบมาจึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน