แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย โดยไม่ปรากฏว่าคำร้องขอขยายระยะเวลาของจำเลยที่อ้างว่าประสบปัญหาเศรษฐกิจไม่อาจหาเงินชำระค่าธรรมเนียมได้ทันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลชั้นต้นจะสั่งขยายระยะเวลาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะรับคดีไว้พิจารณาพิพากษา แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาและจำเลยขอขยายระยะเวลาฎีกา การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาจึงไม่ชอบเช่นกัน เพราะถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) และการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาและรับฎีกาของจำเลย จึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ กับรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มีนาคม 2558) ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 200,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาวันที่ 14 มิถุนายน 2560 จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษา จึงต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 หากต้องการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ต้องยื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายในวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 แต่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์วันที่ 25 กรกฎาคม 2560 และยื่นอุทธรณ์ในวันเดียวกัน ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว ถือได้ว่าเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 เมื่อพ้นกำหนดที่จำเลยจะสามารถยื่นคำร้องได้ จึงต้องเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นเมื่อมีเหตุสุดวิสัย การที่จำเลยยื่นคำร้องนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วและตามเหตุผลในคำร้องที่อ้างว่าจำเลยประกอบอาชีพส่วนตัว ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจตามสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงไม่อาจหาเงินเพื่อมาชำระค่าธรรมเนียมศาลในการยื่นอุทธรณ์ได้ทันตามกำหนด และวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 จำเลยแจ้งทนายจำเลยว่าได้ไปขอยืมเงินจากบุคคลอื่นเพื่อมาชำระค่าธรรมเนียมศาลได้ครบแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลชั้นต้นจะสั่งขยายระยะเวลาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่จำเลย จากนั้นจำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาชำระและศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเป็นการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์และยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนด ไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะรับไว้พิจารณาพิพากษา เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาและจำเลยขอขยายระยะเวลาฎีกา การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบเช่นกัน เนื่องจากถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย นอกจากนี้เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 วันที่ 19 พฤษภาคม 2561 ต่อมาศาลชั้นต้นยังอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาและรับฎีกาของจำเลย กรณีจึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)
อนึ่ง ขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องวันที่ 18 มีนาคม 2558 ระบุทุนทรัพย์ 400,000 บาท ชำระค่าขึ้นศาล 8,000 บาท ค่าขึ้นศาลในอนาคต 100 บาท เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาประเมินที่ดินพิพาท 925,000 บาท ศาลชั้นต้นจึงให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ดังกล่าวตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 มิถุนายน 2558 และวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 และราคาประเมินที่ดินพิพาทของสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาหางดง ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 โจทก์จึงชำระค่าขึ้นศาลอีก 18,500 บาท เป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา 8,000 บาท และเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 80,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ให้ชำระตามฟ้อง ดังนั้นทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์จึงเป็น 320,000 บาท ค่าขึ้นศาล 6,400 บาท มิใช่ทุนทรัพย์ 400,000 บาท โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 8,000 บาท จึงชำระเกินมา 1,600 บาท ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินนี้แก่โจทก์
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่จำเลยตามคำร้องลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ยกอุทธรณ์ของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์แก่จำเลย เพิกถอนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในส่วนของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่จำเลยตามคำร้องลงวันที่ 14 มิถุนายน 2561 ยกฎีกาของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่เกินมา 8,000 บาท และค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ที่เกินมา 1,600 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5