คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7008/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงว่า “รอไว้สั่งเมื่อผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาคำร้อง ขอให้รับรองฎีกาเสร็จแล้ว” แต่เมื่อผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อ ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาใน ปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกา ของจำเลยที่ 1 อีก คงมีแต่รายการระบุว่าโจทก์ได้รับสำเนาฎีกาของจำเลยที่ 1 และเจ้าหน้าที่รายงานว่าโจทก์รับสำเนาฎีกาครบกำหนดแล้วไม่ยื่นคำแก้ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานของเจ้าหน้าที่ว่า ส่งสำนวนไปศาลฎีกา พฤติกรรมดังกล่าวถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และปฏิบัติการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 216 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 200 และ 201 แล้วศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ได้ การลักทรัพย์โดยการถอดชิ้นส่วนรถยนต์ที่จอดไว้เป็นพฤติการณ์ที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม แม้ทรัพย์ที่ลักไปจะมีราคาน้อยก็ตาม และที่ผู้เสียหายได้รับทรัพย์คืนไปก็เนื่องจากเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมกับทรัพย์ที่ถูกลัก การที่ผู้เสียหายได้ทรัพย์คืนมา จึงไม่ใช่การบรรเทาผลร้ายของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่มีเหตุรอการลงโทษให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(7), 83, 33 ริบไขควงของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) จำคุกคนละ 4 ปีอีกจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี ริบไขควงของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) วรรคสอง, 83 และ 33ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้ตามมาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุกคนละ 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยที่ 1แต่เพียงว่า “รอไว้สั่งเมื่อผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาคำร้องขอให้รับรองฎีกาเสร็จแล้ว” เมื่อผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลยที่ 1 อีก คงมีแต่รายการระบุว่าโจทก์ได้รับสำเนาฎีกาของจำเลยที่ 1 และเจ้าหน้าที่รายงานว่าโจทก์รับสำเนาฎีกาครบกำหนดไม่ยื่นคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานของเจ้าหน้าที่ว่าส่งสำนวนไปศาลฎีกา พฤติกรรมดังกล่าวถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และปฏิบัติการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 200 และ 201 แล้ว ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ได้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1มีว่า มีเหตุอันสมควรรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่เห็นว่า การลักทรัพย์โดยการถอดชิ้นส่วนรถยนต์ที่จอดไว้เป็นพฤติการณ์ที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม แม้ทรัพย์ที่ลักไปจะมีราคาน้อยก็ตาม ที่ผู้เสียหายได้รับทรัพย์คืนไปก็เนื่องจากเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมทรัพย์ที่ลักไป การที่ผู้เสียหายได้ทรัพย์ที่ถูกลักคืนไปจึงไม่ใช่การบรรเทาผลร้ายของจำเลยที่ 1พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่มีเหตุรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 1ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share