คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7497/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาจ้างกำหนดสิทธิของโจทก์ผู้ว่าจ้างในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จตามสัญญาไว้ว่า หากจำเลยที่ 1 ส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดอันเป็นการผิดสัญญาแล้วโจทก์มีสิทธิที่จะปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันได้ตามสัญญาข้อ 19(1) นอกจากนั้นแล้วถ้าหากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายตามสัญญาข้อ 20 จากจำเลยที่ 1ได้อีกด้วยตามสัญญาข้อ 19 วรรคท้าย ซึ่งสิทธิที่จะเรียกเอาค่าปรับรายวันกับสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายดังกล่าวแม้จะเป็นสิทธิที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ตามสัญญาจ้างข้อเดียวกันก็ตาม แต่ก็เป็นสิทธิที่แยกต่างหากจากกันกล่าวคือ เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกใช้สิทธิดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงกรณีเดียว หรือเลือกใช้สิทธิดังกล่าวทุกกรณีก็ได้ เมื่อปรากฏว่า ใกล้จะครบกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาแต่ละฉบับตามที่ได้ขายเวลาออกไป โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ให้เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาพร้อมทั้งแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับไว้ด้วย หลังจากครบกำหนดเวลาตามที่ได้ขยายออกไปแล้ว โจทก์ได้ไปตรวจงานก่อสร้างปรากฏว่าจำเลยที่ 1 หยุดการก่อสร้าง ซึ่งโจทก์เห็นว่างานก่อสร้างไม่คืบหน้าและจำเลยที่ 1 คงจะไม่ทำการก่อสร้างอีกต่อไปโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1เช่นนี้ ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าปรับรายวันตามสัญญาข้อ 19(1) แล้ว เพราะหลังจากครบกำหนดเวลาแล้วโจทก์มิได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ทันที ยังให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1 ใน อันที่จะทำการก่อสร้างต่อไปอีก จนกระทั่งปรากฏว่างานก่อสร้างไม่คืบหน้าเพราะจำเลยที่ 1 ละทิ้งงานอันถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันอันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 19 วรรคท้ายต่อเนื่องกับสัญญาข้อ 20 อีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่ขัดกับสิทธิในการที่โจทก์จะปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันตามสัญญาข้อ 19(1) แต่อย่างใด เพราะโจทก์ได้แสดงเจตนาโดยชัดแจ้งมาแต่แรกแล้วว่าจะใช้สิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาจ้างได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าปรับและค่าเสียหายที่ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มรวมเป็นเงิน6,532,757.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 6,121,158.94 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินประกันตามสัญญา 1,238,242 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,070,912 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ค่าปรับรายวันที่กำหนดในสัญญาสูงเกินควร ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 3,486,927.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน1,070,912 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ชำระค่าปรับเป็นรายรับตามสัญญาจ้างทั้งสามฉบับได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญาจ้างทั้งสามฉบับตามเอกสารหมาย จ.5 จ.7 และ จ.9 กำหนดสิทธิของโจทก์ผู้ว่าจ้างในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จตามสัญญาไว้ในสัญญาข้อ 19 ว่าโจทก์มีสิทธิดังนี้
(1) ปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวัน
(2) เรียกค่าเสียหายอันเกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 1 ทำงานล่าช้า
(3) เรียกค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานต่อจนงานแล้วเสร็จ
นอกจากนั้นแล้วในวรรคท้ายของสัญญาข้อ 19 ดังกล่าวยังกำหนดสิทธิของโจทก์เอาไว้อีกว่า “ในระหว่างที่มีการปรับนั้นถ้าโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 20 นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วย” ส่วนสัญญาข้อ 20 ระบุว่าถ้าโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ริบหลักประกันสัญญาดังกล่าวในข้อ 3
(2) ยินยอมให้โจทก์เรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการนี้ต่อไปจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์
(3) เรียกเอาค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานในเมื่อโจทก์ต้องจ้างผู้ควบคุมงานนั้นอีกต่อหนึ่งจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์
(4) เรียกค่าเสียหายอันพึงมีจากจำเลยที่ 1
จากสัญญาข้อ 19 และข้อ 20 ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า หากจำเลยที่ 1 ส่งมอบการล่าช้ากว่ากำหนดอันเป็นการผิดสัญญาแล้วโจทก์มีสิทธิที่จะปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันได้ตามสัญญาข้อ 19(1)นอกจากนั้นแล้วถ้าหากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายตามสัญญาข้อ 20 จากจำเลยที่ 1 ได้อีกด้วยตามสัญญาข้อ 19 วรรคท้าย ซึ่งสิทธิที่จะเรียกเอาค่าปรับรายวันกับสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายดังกล่าว แม้จะเป็นสิทธิที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างข้อเดียวกันก็ตาม แต่ก็เป็นสิทธิที่แยกต่างหากจากกันกล่าวคือเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกใช้สิทธิดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงกรณีเดียว หรือเลือกใช้สิทธิดังกล่าวทุกกรณีก็ได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อใกล้จะครบกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาแต่ละฉบับตามที่ได้ขยายเวลาออกไปโจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ให้เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาพร้อมทั้งแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับไว้ด้วย หลังจากครบกำหนดเวลาตามที่ได้ขยายออกไปแล้ว โจทก์ได้ไปตรวจงานก่อสร้างปรากฏว่าจำเลยที่ 1 หยุดการก่อสร้าง ซึ่งโจทก์เห็นว่างานก่อสร้างไม่คืบหน้าและจำเลยที่ 1 คงจะไม่ทำการก่อสร้างอีกต่อไป โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1เช่นนี้ ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าปรับรายวันตามสัญญาข้อ 19(1) แล้ว เพราะหลังจากครบกำหนดเวลาแล้ว โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ทันที ยังให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1 ในอันที่จะทำการก่อสร้างต่อไปอีก จนกระทั่งปรากฏว่างานก่อสร้างไม่คืบหน้าเพราะจำเลยที่ 1 ละทิ้งงาน อันถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันอันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 19 วรรคท้าย ต่อเนื่องกับสัญญาข้อ 20 อีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่ขัดกับสิทธิในการที่โจทก์จะปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันตามสัญญาข้อ 19(1) แต่อย่างใด เพราะโจทก์ได้แสดงเจตนาโดยชัดแจ้งมาแต่แรกแล้วว่าจะใช้สิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาจ้างทั้งสามฉบับได้
ในปัญหาที่ว่าค่าปรับเป็นรายวันมีจำนวนเท่าใดนั้นเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 1,000,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าปรับรายวันอีกจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share