คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7002/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ และนำบัตรที่โจทก์ออกให้ไปใช้ซื้อสินค้าและบริการจากสถานประกอบกิจการค้ากับเบิกเงินสดล่วงหน้าจากธนาคารในระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2532ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2532 หลายครั้ง โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลย แต่จำเลยไม่ชำระคืนให้โจทก์ โจทก์จึงยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของจำเลยและทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์หลายครั้ง จำเลยไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินทดรองที่โจทก์จ่ายแทนจำเลยไปพร้อมทั้งค่าธรรมเนียมในการเบิกเงินสดล่วงหน้า และเบี้ยปรับผิดสัญญาในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 113,245.77 บาท โดยโจทก์ได้แนบสำเนาใบแจ้งยอดบัญชีมาท้ายฟ้องเพื่อให้จำเลยตรวจสอบด้วยแล้ว ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นรายละเอียดแห่งหนี้ที่แสดงรายการที่จำเลยนำบัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ไปใช้ซื้อสินค้าบริการและเบิกเงินสดในแต่ละครั้งไว้ ซึ่งรายการดังกล่าวระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นสถานที่ใดและในวันใด ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ส่วนที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าอัตราดอกเบี้ยขณะที่จำเลยผิดสัญญาธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้เท่าไรนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการแก่บุคคลทั่วไปในรูปของบัตรเครดิต โดยโจทก์ออกบัตรเครดิตให้แก่สมาชิก แล้วสมาชิกของโจทก์สามารถนำบัตรไปใช้ซื้อสินค้าและบริการจากสถานประกอบกิจการค้าที่ตกลงรับบัตรของโจทก์โดยสมาชิกไม่ต้องชำระราคาสินค้าเป็นเงินสด โจทก์เป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลังและสมาชิกสามารถนำบัตรไปถอนเงินสดล่วงหน้าจากบัญชีเงินฝากของสมาชิกที่ธนาคารโจทก์โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติซึ่งสมาชิกจะต้องเสียค่าบริการให้แก่โจทก์ด้วย และการให้บริการดังกล่าวแก่สมาชิกของโจทก์ โจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมรายปีด้วย โจทก์จึงเป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่สมาชิก และการที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อน แล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไป ดังนั้น ที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไป สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา193/34 (7)
โจทก์จำเลยได้ตกลงเงื่อนไขการชำระหนี้ไว้ว่า เมื่อโจทก์ออกเงินทดรองจ่ายแทนไปแล้ว โจทก์จัดส่งใบแจ้งยอดบัญชีให้จำเลยทราบโดยคิดยอดหนี้ทุกวันที่ 20 ของเดือน กำหนดให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป ปรากฏว่าใบแจ้งยอดบัญชีครั้งสุดท้ายโจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 5 ธันวาคม 2532 ดังนั้น หากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาดังกล่าวย่อมถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่6 ธันวาคม 2532 โจทก์มาฟ้องให้จำเลยชำระหนี้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2536จึงเกิน 2 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ

Share