แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยสี่คนฐานวิวาททำร้ายร่างกายบาดเจ็บตามกฎหมายอาญา ม.254, 256 จำเลยคนเดียวอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะฟังว่าไม่เป็นการวิวาท ก็ไม่เป็นเหตุในส่วนลักษณคดีมีผลถึงจำเลยอื่นอีกสามคนที่มีได้อุทธรณ์นั้น และในกรณีเช่นนี้ศาลอุทธรณ์จะยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1-2-3ไม่ได้
ย่อยาว
คดีนี้อัยยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยวิวาททำร้ายร่างกายกัน จำเลยที่ ๔ แทงจำเลยที่ ๑ สาหัส จำเลยที่ ๑ – ๒ -๓ ทำร้ายจำเลยที่ ๔ มีบาดเจ็บ อนึ่งจำเลยที่ ๔ เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ – ๒ – ๓ ว่าทำร้ายร่างกายตนมีบาดเจ็บ
ศาลชั้นต้นรวมคดีพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่ได้วิวาททำร้ายร่างกายกันจำเลยที่ ๔ ทำร้ายจำเลยที่ ๑ สาหัสและจำเลยที่ ๑-๒-๓ ทำร้ายจำเลยที่ ๔ บาดเจ็บ ลงโทษจำเลยที่ ๑-๒-๓ ตามกฎหมายอาญา ม.๒๕๔ จำเลยที่ ๔ ตาม ม.๒๕๖
จำเลยที่ ๔ ผู้เดียวในฐานะเป็นโจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทรณ์ฟังว่าเหตุทำร้ายเรื่องนี้ฟังไม่ได้ว่าเป็นการวิวาท แม้จำเลยที่ ๑-๒-๓ จะมิได้อุทธรณ์มาศาลก็วินิจฉัยได้ จึงพิพากษากลับศาลชั้นต้นยกฟ้องอัยยการโจทก์และจำเลยที่ ๔ ปล่อยจำเลยทุกคนไป
อัยยการโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตัดสินว่าสำหรับตัวจำเลยที่ ๑-๒-๓ นั้นเมื่อศาลชั้นต้นลงโทษตาม ม.๒๕๔ ก็มิได้ยื่นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์เชื่อว่าไม่เป็นกรณีวิวาทก็สุดแต่ศาลอุทธรณ์ แต่ที่จำเลยที่ ๑-๒-๓ ยอมรับโทษตามฟ้องอัยยการโจทก์จะว่าเป็นลักษณคดีหาได้ไม่ เพราะคดีเป็นเรื่องส่วนตัวคือส่วนตัวจำเลยที่ ๑-๒-๓ เท่ากับยอมรับแล้วว่าตนทำร้ายจำเลยที่ ๔ ตามฟ้องอัยยการโจทก์จริงจึงมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา สำหรับจำเลยที่ ๔ นั้นเห็นว่ากระทำการโดยป้องกันตัวไม่มีโทษ จึงพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑-๒-๓ ตามศาลชั้นต้น