แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยตกลงกันโดยโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินล่วงหน้าและออกเงินทดรองค่าใช้จ่ายแทนจำเลย เมื่อจำเลยนำปลาไปขายให้โจทก์ก็จะมีการคิดบัญชีหักหนี้จากราคาปลาเงินส่วนที่เหลือเป็นของจำเลย ข้อตกลงเช่นนี้ต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 ซึ่งไม่บังคับว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ กรณีมิใช่จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์โดยตรง แม้โจทก์ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือก็ฟ้องจำเลยได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ตกลงกับจำเลย ยอมให้จำเลยเบิกเงินล่วงหน้า และยอมออกเงินทดรองค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แทนจำเลย เมื่อจำเลยหาปลาได้แล้วจะต้องนำมาขายให้โจทก์แล้วคิดหักบัญชีกัน แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่ามีการกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์เมื่อวันที่เท่าใดบ้าง เป็นจำนวนเงินเท่าใดและเป็นค่าอะไรบ้าง รายละเอียดเหล่านี้ปรากฏอยู่ในสำเนาเอกสารท้ายฟ้องแม้จำเลยจะอ้างว่าสำเนาภาพถ่ายไม่ชัดเจนอ่านไม่ออก ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 149 ถ้าคู่ความไม่ยอมชำระค่าอ้างเอกสาร ศาลมีอำนาจไม่รับฟังพยานหลักฐานนั้นได้ ซึ่งคำว่าไม่ยอม มีความหมายว่าจงใจฝ่าฝืนไม่ชำระ แต่ในกรณีหลงลืมซึ่งไม่จงใจฝ่าฝืน ศาลย่อมมีอำนาจรับชำระค่าอ้างเอกสารหลังจากมีคำพิพากษาแล้วได้ เพราะชำระเพียงครั้งเดียวรับฟังได้ถึงสามชั้นศาล ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้รับฟังหากเพิ่งชำระในชั้นศาลสูง
ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์คิดตามทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์มากเกินกว่าร้อยละ 3 จึงไม่ชอบ