คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการร้านโจทก์ตามสัญญาจ้างท้ายฟ้อง ตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์หรือบุคคลที่โจทก์มอบหมาย หากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ด้วยประการใด ๆ จนเกิดความเสียหายขึ้นในภายหน้าแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จนครบ และต่อมาในระหว่างสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบัญชีได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้สินค้าของโจทก์ขาดบัญชีและลูกหนี้การค้าทั่วไปคลาดเคลื่อน โจทก์ได้รับความเสียหายเช่นนี้เห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดทั้งตามสัญญาจ้างแรงงานและในมูลละเมิดที่โจทก์อ้างในฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงานและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ในกรณีเช่นนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทาง สำหรับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164(เดิม) ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม2528 จึงต้องเริ่มนับอายุความ 10 ปีใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าวตามมาตรา 181(เดิม) โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2529คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการร้านโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันความเสียหายอันเกิดจากการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ระหว่างสัญญาจำเลยที่ 1ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้สินค้าขาดบัญชีและลูกหนี้การค้าทั่วไปคลาดเคลื่อนรวมเป็นเงิน 371,519.81 บาทและจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 410,993.78บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 371,519.81บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับสินค้าขาดบัญชีเพราะไม่อยู่ในหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ส่วนลูกหนี้การค้าทั่วไปคลาดเคลื่อนไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1ได้ชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามหนังสือรับใช้หนี้เพราะจำเลยที่ 1 เพียงแต่ลงลายมือชื่อไว้เท่านั้นส่วนข้อความโจทก์พิมพ์ขึ้นเอง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันมิใช่ลายมือชื่อจำเลยที่ 2 คดีโจทก์ขาดอายุความละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 410,993.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 371,519.81 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยที่ 1จะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1ให้รับผิดในมูลละเมิด โจทก์ทราบถึงเหตุละเมิดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2528แต่โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2529 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2528 โจทก์ก็ต้องฟ้องร้องภายใน 1 ปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา181 วรรคสอง (เดิม) ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความเช่นกัน เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการร้านโจทก์ตามสัญญาจ้างท้ายฟ้อง เอกสารหมายเลข 5ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 3, 4 และ 5 จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์หรือบุคคลที่โจทก์มอบหมายหากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ด้วยประการใด ๆ จนเกิดความเสียหายขึ้นในภายหน้าแก่โจทก์ จำเลยที่ 1ยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จนครบ และต่อมาในระหว่างสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบัญชีได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้สินค้าของโจทก์ขาดบัญชีและลูกหนี้การค้าทั่วไปคลาดเคลื่อน โจทก์ได้รับความเสียหายทั้งสองรายการรวมเป็นเงินจำนวน 371,519.81 บาท เช่นนี้เห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดทั้งตามสัญญาจ้างแรงงานและในมูลละเมิดที่โจทก์อ้างในฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงาน และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ในกรณีเช่นนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทาง สำหรับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องถืออายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 (เดิม) ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2528 จึงต้องเริ่มนับอายุความ 10 ปี ใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าวตามมาตรา 181 (เดิม)โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2529 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับใช้ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ให้โจทก์ด้วยความสมัครใจศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share