แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ที่ 1 เจ้าของรวมในที่ดินแปลงที่ถูกเวนคืนจะไม่ได้ ยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทน ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง จากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทน ซึ่งทำให้โจทก์ที่ 1 สิ้นสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนของโจทก์ที่ 1 จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้รักษาการตาม พระราชกฤษฎีกาฯจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติให้การเสียสิทธิดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 มีผลให้โจทก์ที่ 3 ก็ตาม แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติให้การเสียสิทธิดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 มีผลให้โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8ซึ่งเป็นเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกับโจทก์ที่ 1 ต้องเสียสิทธิในการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อจำเลยที่ 3 ไปด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 เป็นบทบัญญัติให้เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแก่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์ทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ ไม่ใช่บทบัญญัติ ให้เจ้าของรวมคนอื่น ๆ เสียสิทธิไปเพราะเหตุที่เจ้าของรวมคนหนึ่ง ไม่ใช้สิทธินั้น ดังนั้นการที่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์ที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์เงิน ค่าทดแทนต่อจำเลยที่ 3 ถือว่าเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ย่อมเป็นผล ถึงโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วย และเมื่อจำเลยที่ 3 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ทั้งโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลา ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการฟ้องคดีถูกต้องตามขั้นตอนและภายในกำหนด เวลาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 และ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 จึงมีอำนาจฟ้องขอเงิน ค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 16 วรรคสุดท้าย บัญญัติให้นับแต่วันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 15 ใช้บังคับ ถ้าผู้มีสิทธิในทรัพย์สินนั้นโอนสิทธิให้แก่บุคคลภายนอก ผู้รับโอนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ก็แต่เฉพาะเงินค่าทดแทนเท่านั้น ดังนั้นแม้การเวนคืนจะดำเนินการไปถึงขั้นตอนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ซึ่งในกรณีนี้คือที่ดินตามฟ้องแล้วก็ยังสามารถโอนสิทธิกันได้ โดยกฎหมายมิได้บัญญัติห้ามเพียงแต่ผู้รับโอนไปมีสิทธิเรียกร้องได้เฉพาะแต่เงินค่าทดแทนเท่านั้นและไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากผู้รับโอนรู้มาก่อนว่าที่ดิน ดังกล่าวจะต้องถูกเวนคืนหรืออยู่ในบริเวณที่จะต้องเวนคืนตาม พระราชกฤษฎีกาแล้วจะเรียกเงินค่าทดแทนไม่ได้ ทั้งการกำหนด เงินค่าทดแทน กฎหมายก็บัญญัติให้มีคณะกรรมการกำหนดราคา เบื้องต้นตามมาตรา 9 แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืน อสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เป็นผู้พิจารณากำหนดตาม หลักเกณฑ์ในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน หากผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่ พอใจก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหากยังไม่พอใจในคำวินิจฉัย ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้อีก ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งแปดฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่ จะต้องเวนคืนจึงเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมาย ให้สิทธิไว้ แม้โจทก์ทั้งแปดจะเรียกเงินค่าทดแทนสูงกว่า ราคาที่ดินที่โจทก์ซื้อมา ก็เป็นเรื่องการใช้สิทธิทางศาล ซึ่งศาลจะต้องพิจารณากำหนดให้ตามหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21กำหนดไว้ กรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ทั้งแปดใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แม้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทน ให้โจทก์ทั้งแปดเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนโดยใช้ราคาประเมิน ทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมของกรมที่ดินมาเป็นเกณฑ์ โดยคำนึงถึงสภาพและทำเล ที่ตั้งของที่ดินประกอบด้วย จะไม่ครบถ้วนหลักเกณฑ์ตามที่ กฎหมายกำหนดก็ตามแต่โจทก์ทั้งแปดเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่า โจทก์ทั้งแปดควรจะได้รับเงินค่าทดแทนตามจำนวนที่โจทก์ ทั้งแปดฟ้อง จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ทั้งแปดจะต้องหาพยานมาสนับสนุน ข้ออ้างของโจทก์ทั้งแปดดังกล่าวให้มีน้ำหนักรับฟังได้แต่โจทก์ทั้งแปดก็ไม่ได้นำสืบว่า ในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯมีผลใช้บังคับที่ดินของโจทก์ทั้งแปดตามฟ้องมีราคาซื้อขายกัน ตามปกติในท้องตลาดตารางวาละเท่าใดและเมื่อพยานหลักฐาน ของโจทก์ทั้งแปดรับฟังไม่ได้ว่าที่ดินตามฟ้องของโจทก์ทั้งแปด มีราคาสูงดังที่โจทก์ทั้งแปดฎีกา ศาลฎีกาย่อมพิเคราะห์ถึง หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แล้วกำหนดเงิน ค่าทดแทนที่ดินที่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งแปดผู้ถูกเวนคืนและสังคม พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 66 วรรคท้าย บัญญัติในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น เห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดให้ได้รับดอกเบี้ยปรับขึ้นลงตามสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินเมื่อการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปีได้แม้โจทก์จำเลยไม่ได้อุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ทั้งแปดฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ทั้งแปดรวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 105,142,939 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,505,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 4,005,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 1,505,000 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 1,000,000บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 1,252,500 บาท โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน752,500 บาท โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 2,000,000 บาท และโจทก์ที่ 8เป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ส่วนฟ้องของโจทก์ที่ 1 เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งแปดและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์ที่ 1 อีก 3,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2534 สำหรับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2535 สำหรับโจทก์ที่ 3ถึงที่ 8 ไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งแปดและจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 เนื้อที่ 10 ไร่ โดยโจทก์ที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์1,400 ส่วน โจทก์ที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ 1,000 ส่วน โจทก์ที่ 4 และที่ 8 ถือกรรมสิทธิ์คนละ 400 ส่วน และโจทก์ที่ 7 ถือกรรมสิทธิ์800 ส่วน นอกจากนี้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6ยังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 9319 เนื้อที่ 6 ไร่8 ตารางวา โดยโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์คนละ 602 ส่วนโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ถือกรรมสิทธิ์คนละ 301 ส่วน และโจทก์ที่ 5ยังถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 115273 และ 119361 เนื้อที่แปลงละ 100 ตารางวา อีกด้วย ที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าวอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531เพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินทั้ง 4 แปลงข้างต้น โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ปี 2531 ถึง 2534 เป็นเกณฑ์ในราคาตารางวาละ 500 บาท มิใช่กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์แต่ละคนตามจำนวนที่โจทก์แต่ละคนกล่าวอ้างไว้ในคำฟ้อง
ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 เป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ซึ่งการกำหนดค่าทดแทนที่ดินแปลงนี้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินให้รวมกันทั้งแปลงโดยมิได้แยกว่าเจ้าของคนใดได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินกันเป็นสัดส่วนเท่าใด การใช้สิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ย่อมเป็นการจัดการตามธรรมดาแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 ทั้งแปลง โจทก์ที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมแต่เพียงลำพัง ย่อมใช้สิทธิอุทธรณ์ดังกล่าวได้และย่อมมีผลว่า โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ได้ยื่นอุทธรณ์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่าโจทก์ที่ 1 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย ก็เป็นผลให้โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดเวลาตามกฎหมายด้วย แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ส่งหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ทราบอีกครั้งหนึ่งก็เป็นเพียงแจ้งให้ทราบจำนวนเงินค่าทดแทนและขอให้ไปรับเงินค่าทดแทนเท่านั้น หาได้ก่อให้สิทธิยื่นอุทธรณ์ขึ้นใหม่ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้ชำระค่าทดแทนเพิ่มสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อจำเลยที่ 3 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนก็ตาม ซึ่งทำให้โจทก์ที่ 1 เพียงผู้เดียวสิ้นสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนของโจทก์ที่ 1 จากจำเลยที่ 3 ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติให้การเสียสิทธิดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 มีผลให้โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ซึ่งเป็นเจ้ากรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 ร่วมกับโจทก์ที่ 1 ต้องเสียสิทธิในการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อจำเลยที่ 3 ไปด้วย มาตรา 1359 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นบทบัญญัติให้เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแก่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์ทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ ไม่ใช่บทบัญญัติให้เจ้าของรวมคนอื่น ๆ เสียสิทธิไปเพราะเหตุที่เจ้าของรวมคนหนึ่งไม่ใช้สิทธินั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนถึงโจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ด้วยโดยโจทก์ที่ 4ได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์ที่ 7และโจทก์ที่ 8 ได้รับในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ขอเงินค่าทดแทนเพิ่ม ตามหนังสือลงวันที่ 15 มีนาคม 2534 จำเลยที่ 3 ได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และและที่ 8 ในวันที่ 25 มีนาคม 2534 สำหรับโจทก์ที่ 2 แม้คู่ความไม่ได้อ้างส่งใบรับหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนต่อศาลและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 ได้รับหนังสือแจ้งในวันใด แต่เมื่อนับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งเป็นวันที่ลงในหนังสือแจ้งและเป็นวันแรกที่อาจจะส่งหนังสือแจ้งดังกล่าวถึงโจทก์ที่ 2 ได้จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2534 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 3 ได้รับอุทธรณ์แล้วยังไม่พ้นกำหนด 60 วัน โจทก์ที่ 2ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 จึงยื่นอุทธรณ์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทน การที่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์ที่ 1 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 ยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาถือว่าเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ย่อมเป็นผลถึงโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วย และเมื่อจำเลยที่ 3มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 60 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ทั้งโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการฟ้องคดีถูกต้องตามขั้นตอนและภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 จึงมีอำนาจฟ้องขอเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 7940 เพิ่ม
ในปัญหาที่ว่าโจทก์ทั้งแปดเป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้องใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ที่ดินทั้ง 4 แปลงตามฟ้องเป็นที่ดินไม่ติดถนนสาธารณะเป็นทุ่งนาและบ่อปลา เป็นที่ลุ่มและร่องสวน รถยนต์เข้าไม่ถึง โจทก์ทั้งแปดทราบสภาพที่ดินมาก่อนซื้อแต่กลับซื้อที่ดินดังกล่าวหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2531 ในราคาตารางวาละ 600 บาท 625 บาท และ 830 บาท และมาฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนระบุว่า ขณะที่มีการซื้อขายกันที่ดินทั้ง 4 แปลง ราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ 12,000 บาท แสดงว่าโจทก์ทั้งแปดซื้อที่ดินมาเพื่อแสวงหากำไรจากรัฐซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสาธารณประโยชน์ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งแปดใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอีกทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งแปดได้ขอตรวจสอบการเวนคืนที่ดินดังกล่าวจากกรุงเทพมหานครและหน่วยงานอื่นที่มีการดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่กรุงเทพมหานครมาก่อนนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 16 วรรคสุดท้าย บัญญัติว่า “นับแต่วันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 15 ใช้บังคับถ้าผู้มีสิทธิในทรัพย์สินนั้นโอนสิทธิให้แก่บุคคลภายนอก ผู้รับโอนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ก็แต่เฉพาะเงินค่าทดแทนเท่านั้น” ดังนั้นแม้การเวนคืนจะดำเนินการไปถึงขั้นตอนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในกรณีนี้คือที่ดินตามฟ้องแล้วก็ยังสามารถโอนสิทธิกันได้ โดยกฎหมายมิได้บัญญัติห้าม เพียงแต่ผู้รับโอนไปมีสิทธิเรียกร้องได้เฉพาะแต่เงินค่าทดแทนเท่านั้นและไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากผู้รับโอนรู้มาก่อนว่าที่ดินดังกล่าวจะต้องถูกเวนคืนหรืออยู่ในบริเวณที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาแล้วจะเรียกเงินค่าทดแทนไม่ได้ทั้งการกำหนดเงินค่าทดแทนกฎหมายก็บัญญัติให้มีคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นตามมาตรา 9แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530เป็นผู้พิจารณากำหนดตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน หากผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่พอใจก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและหากยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้อีก ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งแปดฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนจึงเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายให้สิทธิไว้ แม้โจทก์ทั้งแปดจะเรียกเงินค่าทดแทนสูงกว่าราคาที่ดินที่โจทก์ซื้อมา ก็เป็นเรื่องการใช้สิทธิทางศาล ซึ่งศาลจะต้องพิจารณากำหนดให้ตามหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 กำหนดไว้ กรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ทั้งแปดใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งแปดและจำเลยทั้งสามต่อไปว่า เงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้โจทก์ทั้งแปดตารางวาละ 500 บาท เป็นธรรมหรือไม่ และควรมีจำนวนเท่าใด เห็นว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งแปดตามฟ้องอยู่ในเขตที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2531 การกำหนดเงินค่าทดแทนจึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 แล้ว ซึ่งมาตรา 21 บัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน ตามมาตรา 18 นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้ว ให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม”ได้ความตามที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งแปด โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี 2531 ถึง 2534 ตามเอกสารหมาย ล.16 มาเป็นเกณฑ์โดยคำนึงถึงสภาพและทำเลที่ตั้งของที่ดินประกอบด้วย ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.38 แล้วกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งแปดตารางวาละ 500 บาท จึงไม่ครบถ้วนหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างไรก็ตามโจทก์ทั้งแปดเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งแปดควรจะได้รับเงินค่าทดแทนตามจำนวนที่โจทก์ทั้งแปดฟ้อง จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ทั้งแปดจะต้องหาพยานมาสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ทั้งแปดดังกล่าวให้มีน้ำหนักรับฟังได้ แต่โจทก์ทั้งแปดก็ไม่ได้นำสืบว่าในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับที่ดินของโจทก์ทั้งแปดตามฟ้องมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละเท่าใดและเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งแปดจึงรับฟังไม่ได้ว่าที่ดินตามฟ้องของโจทก์ทั้งแปดมีราคาสูงดังที่โจทก์ทั้งแปดฎีกา แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงว่าบริเวณที่ดินที่จะต้องเวนคืนรวมทั้งที่ดินของโจทก์ทั้งแปดตามฟ้องตั้งอยู่ไม่ไกลจากสวนหลวง ร.9 และถนนสายหลักคือถนนศรีนครินทร์ ถนนสุขาภิบาล 1 ซอยอ่อนนุชและซอยอุดมสุขมากนักได้ความว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งแปดตามฟ้องอยู่ห่างจากสวนหลวง ร.9ประมาณ 1 กิโลเมตร และยังได้ความต่อไปอีกว่าอยู่ห่างจากถนนศรีนครินทร์ประมาณ 2 ถึง 3 กิโลเมตร ห่างจากซอยอ่อนนุชประมาณ 3 ถึง 4 กิโลเมตร ห่างจากซอยอุดมสุขไม่น้อยกว่า 3 กิโลเมตรที่ดินของโจทก์ทั้งแปดมีลักษณะเป็นบ่อปลา มีการทำนาบ้างประปรายรถยนต์เข้าไม่ถึงที่ดินประกอบกับราคาที่ดินตามฟ้องที่โจทก์ทั้งแปดซื้อมาซึ่งปรากฏตามที่จดทะเบียนไว้ในราคาเฉลี่ยตารางวาละ 600 บาทถึง 830 บาท แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์เพิ่มอีกตารางวาละ 2,500 บาท รวมเป็นตารางวาละ 3,000 บาทจึงสูงเกินไป เมื่อพิเคราะห์ถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(1) ถึง (5)แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530แล้วเห็นว่าเงินค่าทดแทนที่ดินตามฟ้องทั้ง 4 แปลงที่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งแปดผู้ถูกเวนคืนและสังคมคือ ตารางวาละ 1,500 บาทซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดอีกตารางวาละ 1,000 บาท
สำหรับข้อที่โจทก์ทั้งแปดฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นจากที่กำหนดดอกเบี้ยให้เท่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินในอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปีเป็นให้ดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ และมิใช่เรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือเป็นการต้องห้ามตามกฎหมายที่โจทก์ทั้งแปดจะได้รับดอกเบี้ยอัตราคงที่นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคท้าย บัญญัติว่า”ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” เห็นได้ว่า กฎหมายกำหนดให้ได้รับดอกเบี้ยปรับขึ้นลงตามอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 10.5 ต่อปีคงที่ตลอดไป จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์ที่ 1 รวม 2,002,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 รวม 1,602,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 9 เมษายน 2534 ไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ กับชำระค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์ที่ 3 รวม 602,000 บาทให้โจทก์ที่ 4 รวม 400,000 บาท ให้โจทก์ที่ 5 รวม 501,000 บาทให้โจทก์ที่ 6 รวม 301,000 บาท ให้โจทก์ที่ 7 รวม 800,000 บาท และให้โจทก์ที่ 8 รวม 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในต้นเงินดังกล่าวแต่ละจำนวนแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์