คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6976/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัท พ. และโจทก์บังคับคดีโดยขออายัดเงินฝากที่บริษัท พ. ฝากไว้กับจำเลย แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม โดยอ้างว่าบริษัท พ. เป็นลูกหนี้จำเลยกับโอนสิทธิในเงินฝากให้แก่จำเลยและจำนำเงินฝากไว้แก่จำเลยด้วย แต่การที่จำเลยปฏิเสธไม่ส่งเงินที่ศาลมีคำสั่งอายัดโดยให้เหตุผลว่า บริษัท พ. เป็นลูกหนี้จำเลยกับโอนสิทธิในเงินฝากให้แก่จำเลย ทั้งยังจำนำเงินฝากไว้แก่จำเลยด้วย เป็นการใช้สิทธิปฏิเสธหรือโต้แย้งคำสั่งอายัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคหนึ่ง การปฏิเสธของจำเลยจะฟังได้หรือไม่ ย่อมเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นในคดีที่ได้มีคำสั่งอายัดเป็นผู้ไต่สวนและวินิจฉัย หากการปฏิเสธของจำเลยฟังไม่ได้ ศาลในคดีดังกล่าวก็ต้องมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งอายัด หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่จำเลย และดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา อันเป็นขั้นตอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคสอง แต่มิได้หมายความว่าหากศาลชั้นต้นไต่สวนและวินิจฉัยเป็นประการใดแล้วให้เป็นที่สุด ดังนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งอายัด จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในคดีที่ศาลมีคำสั่งอายัดเงิน จำเลยวางหลักประกันจนเป็นที่พอใจแก่ศาลและศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์จึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่า การอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งอายัดเป็นการอุทธรณ์เพื่อประวิงคดีไม่ให้โจทก์ได้รับเงินตามคำพิพากษา การที่จำเลยใช้สิทธิโต้แย้งคำสั่งอายัดของศาลโดยการปฏิเสธไม่ยอมส่งเงินที่ศาลมีคำสั่งอายัดให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นการใช้สิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดเสียหายแก่โจทก์ ไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 8,730,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 8,400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 400,000 บาท นับถัดจากเดือนที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะนำเงิน 1,532,029 บาท ส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรี
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัทพาสทิญ่าไทย จำกัด 2 คดี ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.616/2550 และ ย.1012/2550 ของศาลชั้นต้น ซึ่งได้ถึงที่สุดแล้ว แต่บริษัทดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงดำเนินการบังคับคดี โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงจำเลยเพื่ออายัดเงินของบริษัทพาสทิญ่าไทย จำกัด ที่ฝากไว้กับจำเลยและขอให้จำเลยส่งมอบเงินแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีจำนวน 759,437.47 บาท และ 775,555.76 บาท ตามลำดับ แต่จำเลยไม่นำส่งเงินตามอายัดโดยมีหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งอายัดและส่งเงินที่อายัดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามและยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ต่อมาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.616/2550 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ส่วนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.1012/2550 อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การปฏิเสธไม่ยอมส่งมอบเงินที่ศาลมีคำสั่งอายัดให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีของจำเลยเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การปฏิเสธไม่ยอมส่งมอบเงินที่ศาลมีคำสั่งอายัดให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีของจำเลยนี้ จำเลยให้เหตุผลว่าบริษัทพาสทิญ่าไทย จำกัด เป็นลูกหนี้จำเลย และได้โอนสิทธิในเงินฝากของบริษัทดังกล่าวให้แก่จำเลย ทั้งยังได้จำนำเงินฝากดังกล่าวไว้แก่จำเลยด้วย อันเป็นการใช้สิทธิปฏิเสธหรือโต้แย้งคำสั่งอายัดดังกล่าวตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ การปฏิเสธของจำเลยจะฟังได้หรือไม่ ย่อมเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นในคดีที่ได้มีคำสั่งอายัดเป็นผู้ไต่สวนและวินิจฉัย หากการปฏิเสธของจำเลยฟังไม่ได้ ศาลในคดีดังกล่าวก็ต้องมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งอายัด หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่จำเลย และดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา อันเป็นขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312 วรรคสอง บัญญัติไว้ แต่มิได้หมายความว่าหากศาลชั้นต้นไต่สวนและวินิจฉัยเป็นประการใดแล้วให้เป็นที่สุด ดังนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งอายัด จึงเป็นการใช้สิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมาย ที่โจทก์อ้างว่าอุทธรณ์ของจำเลยไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นก็เป็นเพียงความเห็นทางกฎหมายของโจทก์ที่แตกต่างไปจากจำเลยเท่านั้น ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าในคดีที่ศาลมีคำสั่งอายัดเงินทั้งสองคดีที่เป็นเหตุพิพาทในคดีนี้บริษัทพาสทิญ่าไทย จำกัด จำเลยในคดีทั้งสองได้วางหลักประกันจนเป็นที่พอใจแก่ศาล และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์จึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าการอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งอายัดเป็นการอุทธรณ์เพื่อประวิงคดีไม่ให้โจทก์ได้รับเงินตามคำพิพากษา การที่จำเลยใช้สิทธิโต้แย้งคำสั่งอายัดของศาลโดยการปฏิเสธไม่ยอมส่งมอบเงินที่ศาลมีคำสั่งอายัดให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ดี หรือการอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นก็ดี เป็นการใช้สิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดเสียหายแก่โจทก์ ไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้ออื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share