คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16469/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวรก็เรียกให้แบ่งไม่ได้” และวรรคสามบัญญัติว่า “ท่านว่าเจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้” ตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ว. โจทก์และจำเลยทั้งสองมีข้อตกลงกันว่าการซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทนี้ห้ามแบ่งแยกกัน แม้จะได้ความจาก ว. ที่ตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า ว. ต้องการให้โจทก์มีที่ทำกินในอาคารพาณิชย์พิพาทร่วมกับจำเลยทั้งสองไปเรื่อย ๆ แต่ ว. เป็นเพียงผู้ออกเงินชำระค่าที่ดินมิใช่เจ้าของรวม จึงถือไม่ได้ว่าเป็นวัตถุประสงค์ของเจ้าของรวมให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอันมีลักษณะเป็นการถาวร การที่จำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้เยาว์ก็มิใช่ข้อห้ามแบ่งแยกและไม่ใช่กรณีไม่เป็นโอกาสอันควรแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่อาจทำกิจการค้าต่อไปได้ และการที่จะให้ผู้อื่นเช่าก็เกิดปัญหากับจำเลยทั้งสองถึงขั้นตกลงกันไม่ได้ จะให้จำเลยทั้งสองครอบครองโดยให้ประโยชน์ตอบแทนแก่โจทก์ก็เกิดปัญหาเรื่องจำนวนค่าตอบแทน การถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันต่อไปย่อมไม่เกิดประโยชน์ การที่โจทก์ต้องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงเป็นสิทธิของโจทก์และมีความเหมาะสม โจทก์จึงเรียกให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยนำที่ดินและอาคารพิพาทออกขายนำเงินที่ได้มาแบ่งกันหรือโดยวิธีอื่นใดที่สามารถแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้ หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมชำระเงินค่ากรรมสิทธิ์รวมจำนวน 1,066,666.66 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 29280 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมอาคารพาณิชย์สามชั้นครึ่ง เลขที่ 17 ถนนมนัส ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว โดยวิธีประมูลราคาระหว่างโจทก์ฝ่ายหนึ่งกับจำเลยทั้งสองอีกฝ่ายหนึ่ง หรือนำที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้มาแบ่งกันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตามส่วนกรรมสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 29280 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมอาคารพาณิชย์สามชั้นครึ่ง เลขที่ 17 ที่ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ 2 ใน 3 ส่วน โดยให้โจทก์ จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวกันเองก่อน เมื่อไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคาระหว่างกันเอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งให้โจทก์ 2 ใน 3 ส่วน และให้จำเลยทั้งสอง 1 ใน 3 ส่วน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 32,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นางวารินทร์มารดาโจทก์รู้จักคุ้นเคยกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จำเลยที่ 1 พบประกาศขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์พิพาทและสนใจจะซื้อแต่ไม่มีเงินจึงปรึกษากับนางวารินทร์ นางวารินทร์เห็นดีด้วยและสนับสนุนด้านการเงินจึงตกลงซื้อร่วมกันโดยนางวารินทร์ออกเงินชำระให้ก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ขายที่ดินได้ จำเลยที่ 1 จะนำเงินส่วนที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระมาคืนให้นางวารินทร์ และตกลงให้โจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แต่เมื่อมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันจริงปรากฏว่ามีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์และจำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน หลังจากนั้นโจทก์และจำเลยทั้งสองเข้าทำประโยชน์ในที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาท แต่กิจการที่โจทก์เข้าทำประโยชน์ค้าขายสุราต่างประเทศไม่ดีจึงเลิกกิจการ และให้จำเลยที่ 1 ใช้พื้นที่ทำประโยชน์ทั้งหมดโดยให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์ ปลายปี 2550 โจทก์ขอค่าตอบแทนเพิ่ม จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม โจทก์จึงหาผู้มาเช่า แต่ตกลงกับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ โจทก์จึงขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาท และข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทสองในสามส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์เรียกให้แบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวรก็เรียกให้แบ่งไม่ได้ และวรรคสามบัญญัติว่า ท่านว่าเจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้ ตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า นางวารินทร์ โจทก์ และจำเลยทั้งสองมีข้อตกลงกันว่าการซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทนี้ห้ามแบ่งแยกกัน แม้จะได้ความจากนางวารินทร์ที่ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่า นางวารินทร์ต้องการให้โจทก์มีที่ทำกินในอาคารพาณิชย์พิพาทร่วมกับจำเลยทั้งสองไปเรื่อย ๆ แต่นางวารินทร์ไม่ใช่เจ้าของรวมจึงถือไม่ได้ว่าเป็นวัตถุประสงค์ของเจ้าของรวมให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอันมีลักษณะเป็นการถาวร ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้เยาว์ก็ไม่ใช่ข้อห้ามแบ่งแยกและไม่ใช่กรณีไม่เป็นโอกาสอันควรแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่อาจทำกิจการค้าขายต่อไปได้และการจะให้ผู้อื่นเช่าก็เกิดปัญหากับจำเลยทั้งสองถึงขั้นตกลงกันไม่ได้ จะให้จำเลยทั้งสองครอบครองโดยให้ประโยชน์ตอบแทนแก่โจทก์ก็เกิดปัญหาเรื่องจำนวนค่าตอบแทน การถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันต่อไปย่อมไม่เกิดประโยชน์การที่โจทก์ต้องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงเป็นสิทธิของโจทก์และมีความเหมาะสม โจทก์จึงเรียกให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 20,000 บาท แทนโจทก์

Share