แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์กับจำเลยทำธุรกิจท่องเที่ยวร่วมกันโดยมีข้อตกลงกันว่า จำเลยจะจัดส่งนักท่องเที่ยว เข้าไปพักที่โรงแรมของโจทก์ โดยโจทก์จะคิดค่าบริการต่าง ๆที่นักท่องเที่ยวใช้บริการจากจำเลยภายหลัง จำเลยได้นำนักท่องเที่ยวเข้าพักที่โรงแรมของโจทก์แล้ว โจทก์ได้ออกบิลสินเชื่อเรียกเก็บเงินค่าห้องพักและอาหารจากจำเลยโจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ออกบิลสินเชื่อดังกล่าวและมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(4) เดิม แม้จำเลยไม่ได้เป็นผู้มาพักหรือรับบริการเอง แต่จำเลยได้ตกลงไว้ล่วงหน้าแล้วว่าตนเองจะเป็นผู้รับชดใช้ให้ เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ในมูลหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโรงแรม อาหาร เครื่องดื่มจำเลยประกอบกิจการธุรกิจการท่องเที่ยว นำเที่ยว โดยใช้ชื่อว่า”สยามเอ็ดเตอร์ไพรส์ แอน์ทัวร์” เมื่อประมาณปี 2530จำเลยทำสัญญากับโจทก์ว่า จำเลยจะจัดส่งนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยเข้าใช้บริการด้านห้องพักอาศัยอาหารและเครื่องดื่มโดยคิดอัตราค่าบริการของโจทก์ เมื่อจำเลยได้รับแจ้งยอดหนี้ค่าบริการและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากโจทก์แล้ว จำเลยจะต้องชำระเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ทันทีซึ่งเป็นทางปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยตลอดมา เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2531 ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2531 จำเลยจัดส่งนักท่องเที่ยวไปใช้บริการที่โรงแรมของโจทก์หลายชุดโจทก์จัดห้องพัก อาหารและเครื่องดื่มให้แก่นักท่องเที่ยวเหล่านั้นไปใช้บริการของโรงแรมโจทก์ตามความต้องการและข้อตกลงของจำเลยแล้วด้วยความเรียบร้อยดีทุกประการรวม 19 ชุด เป็นเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 27,700 บาท จำเลยได้รับแจ้งยอดหนี้แล้ว แต่จำเลยมิได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 31,681.87บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 27,700 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเฉพาะคำให้การว่า จำเลยไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง เพราะจำเลยได้ชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์กับจำเลยจึงไม่มีหนี้ในการดำเนินธุรกิจต่อกัน หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่ขาดอายุความ 2 ปีตามกฎหมาย โจทก์จึงฟ้องบังคับแก่จำเลยไม่ได้ กล่าวคือ ตามบิลเงินเชื่อเอกสารท้ายฟ้องจำนวน 19 ฉบับ นั้น มีจำนวน 18 ฉบับนับแต่วันที่ออกบิลเงินเชื่อจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า2 ปี ขาดอายุความฟ้องร้องตามกฎหมายแล้ว มีเพียงบิลเงินเชื่อฉบับเลขที่ 02481 เท่านั้นที่ฟ้องไม่เกิน 2 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,160 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้รวม27,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด(วันที่ 14 พฤศจิกายน 2531) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้โจทก์เสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีแต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า หนี้ค่าห้องพักและอาหารตามสำเนาบิลสินเชื่อเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.40 จะต้องใช้อายุความ2 ปี หรือ 10 ปี บังคับ ส่วนค่าห้องพักและอาหารตามบิลสินเชื่อเลขที่ 02481 เอกสารหมาย จ.41 จำนวน 1,160 บาท จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อพิพาทตามบิลสินเชื่อดังกล่าวจึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท จึงเป็นคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนพิพาทโจทก์กับจำเลยได้ทำธุรกิจท่องเที่ยวร่วมกันโดยมีข้อตกลงกันว่า จำเลยจะจัดส่งนักท่องเที่ยวเข้าไปพักที่โรงแรมของโจทก์ โดยโจทก์จะคิดค่าบริการต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวใช้บริการจากจำเลยภายหลัง ปรากฏว่า จำเลยได้นำนักท่องเที่ยวเข้าพักที่โรงแรมของโจทก์แล้ว โจทก์ได้ออกบิลสินเชื่อเรียกเก็บเงินค่าห้องพักและอาหารจากจำเลยตามเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.40เมื่อระหว่างวันที่ 13 มีนาคม 2531 ถึงวันที่ 23 เมษายน 2531ดังนี้ โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ออกบิลสินเชื่อดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165(4) เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิบัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดั่งจะกล่าวต่อไปนี้มีกำหนดอายุความสองปี คือ
(4) บุคคลผู้เป็นเจ้าสำนักโรงแรม และบุคคลจำพวกที่ค้าในการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเรียกเอาค่าที่ได้จัดที่พักอาศัยและจัดอาหารให้ หรือค่าการงานอย่างอื่นอันได้ทำให้แก่แขกอาศัยเพื่อสำเร็จความต้องการ รวมทั้งค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปด้วย”เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงไปว่าด้วยต้องเรียกร้องเอาจากผู้ที่มาพักหรือผู้ที่รับบริการโดยตรง เพียงแต่บังคับว่าหากมีมูลหนี้มาจากการเรียกร้องค่าที่พัก อาหารหรือค่าการงานที่ทำให้แก่ผู้มาพักเท่านั้น แม้จะปรากฏว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้มาพักหรือรับบริการเอง แต่จำเลยได้ตกลงไว้ล่วงหน้าแล้วว่าตนเองจะเป็นผู้รับชดใช้ให้ เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าวแล้ว และอีกประการหนึ่งมีหลักกฎหมายในการตีความสนับสนุนไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 อีกว่า “ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น” ดังนั้น จึงต้องถือเอาอายุความ 2 ปี มาบังคับใช้ เมื่อปรากฏว่าสิทธิเรียกร้องเอาค่าห้องพักและอาหารของโจทก์ตามบิลสินเชื่อเอกสารหมาย จ.22ถึง จ.40 แต่ละฉบับอาจบังคับได้ตั้งแต่วันที่โจทก์ออกบิลสินเชื่อดังกล่าวคือระหว่างวันที่ 13 มีนาคม 2531 ถึงวันที่ 23 เมษายน 2531แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2533 เป็นเวลาเกิน 2 ปีแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยให้ถือเอาอายุความ 10 ปี นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน