แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า ส.ได้ยืมเงินโจทก์ไป 30,000 บาท และมอบที่ดินของส.ให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยทั้งสองในการเพียงแต่ว่า ส.จะเคยยืมเงินโจทก์เมื่อใด จำนวนเท่าไรและมอบที่ดินให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์หรือไม่จำเลยทั้งสองไม่รับรอง เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธ อีกทั้งศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จึงต้องฟังตามที่โจทก์ฟ้องว่าส.ได้ยืมเงินโจทก์ไป 30,000 บาท และมอบที่ดินของส.ให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์เพื่อประกันการชำระหนี้ โจทก์นำสืบว่า ปี 2527 โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินยืมกับค่าทำบุญศพให้ส.เป็นเงินทั้งสิ้น 100,000 กว่าบาทจำเลยทั้งสองจึงพูดยกที่ดินของ ส.ให้เป็นการตีใช้หนี้โดยจำเลยที่ 2 จะไปขออนุญาตต่อศาลเพื่อโอนให้ดังนี้แม้จะได้ความตามที่โจทก์นำสืบก็ตาม ก็เป็นกรณีที่โจทก์ผู้ให้ยืมยอมรับเอาทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืม แต่ไม่ปรากฎว่าได้มีการตกลงว่าที่ดินที่ตีใช้หนี้เงินยืมมีราคาเท่าใด เท่ากับราคาในท้องตลาดในเวลาและสถานที่ส่งมอบหรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสองตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม โจทก์จึงไม่อาจจะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการโอนที่ดินพิพาทตามข้อตกลงดังกล่าวได้ การที่จำเลยทั้งสองพูดยกที่ดินของส.ให้เป็นการตีใช้หนี้นั้นยังมีเงื่อนไขต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จะต้องไปร้องขออนุญาตต่อศาลเพื่อโอนให้โจทก์เนื่องจากขณะนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกของ ส.ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ มิได้เป็นการยกให้โดยเด็ดขาดทันทีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้มีเจตนาสละการครอบครองที่ดินโจทก์ครอบครองที่ดินโดยส.มอบให้ครอบครองทำประโยชน์เพื่อเป็นประกันการใช้หนี้เงินยืมเป็นการครอบครองแทนส.เมื่อส.ถึงแก่ความตายก็ถือได้ว่าโจทก์ยังครอบครองแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของส.แม้โจทก์จะครอบครองนานเพียงใดก็หาได้สิทธิครอบครองไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรผู้มีสิทธิรับมรดกของนายเสาร์ บุราณรมย์ จำเลยที่ 2 เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2517 นายเสาร์ได้ยืมเงินโจทก์ไป 30,000 บาท และมอบที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 101 ตำบลกำแพง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ดให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ต่อมาวันที่ 9 มกราคม 2518 นายเสาร์ถึงแก่ความตายและประมาณเดือนมกราคม 2527 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 ได้ตกลงยกที่ดินดังกล่าวให้โจทก์เป็นการใช้หนี้แทนนายเสาร์โดยจำเลยทั้งสองจะดำเนินการทางศาลเพื่อขอรับมรดกและโอนขายที่ดินให้โจทก์ และจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์หลังจากนั้นโจทก์ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกินกว่า 10 ปีแล้วต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2534 โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการทางศาล จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทั้งยังร่วมกันบุกรุกเข้าทำประโยชน์และรบกวนการครอบครองโดยการเข้าทำนาในที่ดินดังกล่าวขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 101 ตำบลกำแพง อำเภอเกษตรวิสัยจังหวัดร้อยเอ็ด ให้โจทก์ หากไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินดังกล่าวห้ามเข้ายุ่งเกี่ยวหรือรบกวนการครอบครองของโจทก์ต่อไปและพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายเสาร์จะเคยยืมเงินโจทก์เมื่อใด จำนวนเท่าไร และมอบที่ดินให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์หรือไม่จำเลยทั้งสองไม่รับรอง หลังจากที่นายเสาร์ถึงแก่ความตายแล้วโจทก์ไม่เคยทวงหนี้สินจากจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่เคยยกที่ดินน.ส.3 เลขที่ 101 ตีใช้หนี้แทนนายเสาร์ เพราะจำนวนที่ดินกับจำนวนหนี้ต่างกันมาก โจทก์เคยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายเสาร์โดยอ้างว่าได้รับความยินยอมจากทายาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 คัดค้าน โจทก์ก็ได้ถอนคำร้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่านายเสาร์ได้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 30,000 บาท และมอบที่ดินดังกล่าวให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์เพื่อประกันการชำระหนี้หรือไม่ โจทก์ฟ้องว่าเมื่อประมาณเดือนมกราคม 2517 นายเสาร์ได้ยืมเงินโจทก์ไป 30,000 บาท และมอบที่ดินของนายเสาร์ให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยทั้งสองให้การเพียงแต่ว่านายเสาร์จะเคยยืมเงินโจทก์เมื่อใดจำเลยเท่าไรและมอบที่ดินให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์หรือไม่ จำเลยทั้งสองไม่รับรอง เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน ถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธอีกทั้งศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จึงต้องฟังตามที่โจทก์ฟ้องว่า นายเสาร์ได้ยืมเงินโจทก์ไป 30,000 บาทและมอบที่ดินของนายเสาร์ให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์เพื่อประกันการชำระหนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสองตกลงยกที่ดินมรดกของนายเสาร์ชำระหนี้เงินยืมของนายเสาร์ให้แก่โจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โจทก์นำสืบว่า ปี 2527 โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินยืมกับค่าทำบุญศพให้นายเสาร์เป็นเงินทั้งสิ้น 100,000 กว่าบาทจำเลยทั้งสองจึงพูดยกที่ดินของนายเสาร์ให้เป็นการตีใช้หนี้ โดยจำเลยที่ 2 จะไปขออนุญาตต่อศาลเพื่อโอนให้เห็นว่า แม้จะได้ความตามที่โจทก์นำสืบก็ตาม ก็เป็นกรณีที่โจทก์ผู้ให้ยืมยอมรับเอาทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืม แต่ไม่ปรากฎว่าได้มีการตกลงว่าที่ดินที่ใช้หนี้เงินยืมมีราคาเท่าใด เท่ากับราคาในท้องตลาดในเวลาและสถานที่ส่งมอบหรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสอง ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม โจทก์จึงไม่อาจจะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1ดำเนินการโอนที่ดินพิพาทตามข้อตกลงดังกล่าวได้
ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า แม้การยกให้จะไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสองเจตนาสละการครอบครองและโจทก์เป็นผู้ครอบครอง ต่อมา โจทก์ชอบที่จะได้สิทธิครอบครองที่ดินมรดกของนายเสาร์นั้น เห็นว่าการที่จำเลยทั้งสองพูดยกที่ดินของนายเสาร์ให้เป็นการตีใช้ใช้หนี้นั้น ยังมีเงื่อนไขต่อไปว่าจำเลยที่ 2 จะต้องไปร้องขออนุญาตต่อศาลเพื่อโอนให้โจทก์เนื่องจากขณะนั้น จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้รับมรดกของนายเสาร์ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ มิได้เป็นการยกให้โดยเด็ดขาดทันที จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้มีเจตนาสละการครอบครองที่ดินโจทก์ครอบครองที่ดินโดยนายเสาร์มอบให้ครอบครองทำประโยชน์เพื่อเป็นประกันการใช้หนี้เงินยืมเป็นการครอบครองแทนนายเสาร์ เมื่อนายเสาร์ถึงแก่ความตายก็ถือได้ว่าโจทก์ยังครอบครองแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายเสาร์ แม้โจทก์จะครอบครองนานเพียงใดก็หาได้สิทธิครอบครองไม่ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
พิพากษายืน