คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6971/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่ากระแสไฟฟ้าโดยอ้างว่าการต่อสายไฟฟ้าผิดพลาดเป็นเหตุให้เครื่องวัดไฟฟ้าแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริงจึงเรียกส่วนที่ยังขาดอยู่ไม่ใช่เป็นการฟ้องจำเลยว่าละเมิดต่อโจทก์และไม่มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164เดิมซึ่งมีอายุความ10ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2522 จำเลยได้ยื่นคำขอใช้ไฟฟ้าต่อโจทก์ ขอให้โจทก์ติดตั้งเครื่องวัดไฟฟ้าที่โรงงานอุตสาหกรรมห้องเย็นของจำเลยเลขที่ 592 หมู่ที่ 5ถนนท้ายบ้าน ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการจังหวัดสมุทรปราการ โจทก์ได้สำรวจการใช้ไฟฟ้าของจำเลยตามระเบียบแล้วอนุมัติให้จำเลยใช้ไฟฟ้าได้โดยติดเครื่องวัดไฟฟ้าให้จำเลยใช้ไฟฟ้าได้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2524 ซึ่งจำเลยได้ใช้และชำระค่าไฟฟ้าแก่โจทก์ตลอดมา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม2530 พนักงานของโจทก์ตรวจพบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่ติดตั้งเพื่อวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่โรงงานอุตสาหกรรมห้องเย็นของจำเลยดังกล่าวนั้นต่อสายไฟฟ้าเข้าเครื่องวัดไฟฟ้าผิดพลาด ไม่เป็นไปตามมาตรฐานคือต่อสายไฟฟ้าเส้นสีเขียวจาก “ตัวลดกระแสไฟฟ้าตามอัตราส่วน” หรือ “ซีที” ไปเข้าและออกที่ช่อง 7 ของเครื่องวัดกิโลวาร์ ซึ่งที่ถูกต้องสายไฟฟ้าจาก “ซีที” มาเข้าที่ช่อง 7 และออกช่องที่ 9 ของเครื่องวัดกิโลวาร์ และสายไฟฟ้าเส้นสีดำจาก “ซีที” ไปเข้าและออกช่องที่ 9 ของเครื่องวัดกิโลวาร์ ซึ่งที่ถูกต้องสายไฟฟ้าเส้นสีดำจาก “ซีที” จะมาเข้าช่องที่ 3 และช่องที่ 9 ของเครื่องวัดกิโลวัตต์ แล้วต่อลงดินจะไม่ต่อผ่านเข้าเครื่องวัดกิโลวาร์ ระหว่างวันที่ 28มีนาคม 2530 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2530 โจทก์นำเครื่องวัดไฟฟ้ามาตรฐานพร้อม “ซีที” ไปติดตั้งเปรียบเทียบกับเครื่องวัดไฟฟ้าที่โรงงานของจำเลยเพื่อดูความแตกต่างของหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่ผิดพลาด ปรากฎว่าเครื่องวัดไฟฟ้าที่โรงงานจำเลยแสดงค่าพลังงานไฟฟ้าน้อยไปร้อยละ 35.73 และแสดงค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดน้อยไปร้อยละ 55 พิจารณาจากประวัติการใช้ไฟฟ้าของจำเลยแล้วพบว่าเครื่องวัดไฟฟ้าที่โรงงานจำเลยมีการติดตั้งเปลี่ยนเครื่องวัดไฟฟ้าลูกใหม่ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2529เนื่องจากเครื่องวัดไฟฟ้าลูกเดิมมีการแก้ไขให้แสดงค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริง ดังนั้น เครื่องวัดไฟฟ้าจึงแสดงค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าไม่ถูกต้องตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม2529 ถึงวันเปลี่ยนเครื่องวัดไฟฟ้าใหม่เมื่อวันที่ 29 เมษายน2530 โจทก์จึงต้องคิดคำนวณค่าไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวใหม่ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงโดยคิดคำนวณเป็นเงินค่าไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวใหม่เป็นเงินจำนวน 2,109,696.73 บาท แต่จำเลยได้ชำระแล้ว 1,610,455.83 บาท จึงเหลือค่าไฟฟ้าที่จำเลยจะต้องชำระเพิ่มแก่โจทก์เป็นเงิน 499,240.90 บาท โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ภายในวันที่ 22 มีนาคม2531 แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2531 ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 34,887.02 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน534,127.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 499,240.90 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เรียกให้จำเลยชำระค่ากระแสไฟฟ้าโดยอ้างว่าการต่อสายไฟฟ้าผิดพลาดเป็นเหตุให้เครื่องวัดไฟฟ้าแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริงจึงเรียกส่วนที่ยังขาดอยู่ หาใช่ว่าเป็นการฟ้องจำเลยว่าละเมิดต่อโจทก์ไม่ และไม่มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่)ซึ่งมีอายุความ 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 499,240.90 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 23มีนาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องจะต้องไม่เกินกว่า 34,887.02 บาทตามที่โจทก์ขอ

Share