คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6970/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเพื่อขายอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) กำหนดให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ดังนั้นการที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายและมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นการกระทำความผิดในวาระเดียวกัน และถูกจับได้พร้อมกัน แม้วัตถุ แห่งการกระทำต่างชนิดกัน แต่เมื่อเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เช่นเดียวกัน จึงเป็นความผิดต่อบทกฎหมายมาตราเดียวกันเป็นการกระทำกรรมเดียว ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย จึงต้องปรับบทความผิดตาม พ.ร.บ. พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกับความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานมี เมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เมื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 1 แล้ว แต่ไม่ถึง 20 กรัม จึงเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ไม่เป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดอีกต่อไป เนื่องจากเมทแอมเฟตามีนเป็นจำนวนเดียวกันกับมีไว้ในครอบครองเพื่อขาย ซึ่งต้องปรับบทความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องปรับบท ลงโทษมาตรา 67 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก และการริบเมทแอมเฟตามีนก็ไม่อาจริบให้แก่กระทรวงสาธารณสุขได้เพราะ ไม่ได้ลงโทษตามาตรา 89 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 จึงต้องริบตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔, ๖, ๑๓ ทวิ, ๖๒, ๘๙, ๑๐๖, ๑๐๖ ทวิ, ๑๑๖ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๑๐๖ ป.อ. มาตรา ๙๑ และริบเมทแอมเฟตามีนให้แก่กระทรวงสาธารณสุขกับริบเฮโรอีนของกลาง ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง โจทก์จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ริบตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๘๙ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง มาตรา ๖๖ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย ลงโทษจำคุก ๑๒ ปี ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลงโทษประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๒ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย ลงโทษจำคุก ๘ ปี ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยต้องโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตจึงกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ริบเมทแอมเฟตามีนให้แก่กระทรวงสาธารณสุขและริบเฮโรอีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง, ๑๐๖ ทวิ อีกบทหนึ่ง ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและมีโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายตามมาตรา ๘๙ ตาม ป.อ. มาตรา ๙๐ จำคุก ๙ ปี ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายให้จำคุกตลอดชีวิต เมื่อลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ ประกอบด้วย มาตรา ๕๓ แล้ว ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย จำคุก ๖ ปี ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก ๓๓ ปี ๔ เดือน รวมจำคุก ๓๙ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… อนึ่ง ขณะที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท ๑ คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๑.๗๒๕ กรัม ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเพื่อขาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับลงวันที่ ๑๓๕ (พ.ศ. ๒๕๓๙) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศ ลำดับที่ ๒๐ ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ดังนั้น การที่จำเลยมีเมทแอมฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายและมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นการกระทำความผิดในวาระเดียวกันและถูกจับได้พร้อมกัน แม้วัตถุแห่งการกระทำผิดต่างกัน แต่เมื่อเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ เช่นเดียวกัน จึงเป็นความผิดต่อบทกฎหมายมาตราเดียวกันเป็นการกระทำกรรมเดียว ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย จึงต้องปรับบทความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกับความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๓ วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๑.๗๒๕ กรัม ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดนั้น เมื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ แล้ว แต่ไม่ถึง ๒๐ กรัม จึงเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๗ ไม่เป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศอีกต่อไป เนื่องจากเมทแอมเฟตามีนเป็นจำนวนเดียวกันกับมีไว้ในครอบครองเพื่อขาย ซึ่งต้องปรับบทความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องปรับบทลงโทษมาตรา ๖๗ ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก และการริบเมทแอมเฟตามีนก็ไม่อาจริบให้แก่กระทรวงสาธารณสุขได้เพราะไม่ได้ลงโทษตามมาตรา ๘๙ แห่ง พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงต้องริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๒ ปัญหาดังกล่าวข้างต้นเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง จำคุกตลอดชีวิต ลดโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๓ คงจำคุก ๓๓ ปี ๔ เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนของกลาง .

Share