คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 697/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติและบุคคลใดจะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอัน เป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34ดังนั้น ตราบใดที่ยังมิได้มีพระราชบัญญัติให้โอน ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ของวัด แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทมานาน เท่าใด จำเลยก็ไม่ได้ สิทธิครอบครอง ทั้งไม่อาจยกระยะเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 ขึ้นเป็นข้อโต้แย้งกับวัดได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 8หมู่ที่ 3 ตำบลคลองน้อย อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีเนื้อที่จำนวน 19 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา อาณาเขตด้านทิศเหนือจดที่ดินของจำเลย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2522 พระครูอภัยศีลคุณเจ้าอาวาสซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์ได้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อทำการรังวัดออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินไได้ตรวจสอบรังวัดแล้วปรากฏว่า ที่ดินของโจทก์ที่มีอยู่จริงเพียง11 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2525 จำเลยได้คัดค้านว่า ที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ด้านทิศเหนือส่วนที่ติดกับที่ดินของจำเลยทางด้านทิศใต้ เนื้อที่ 1 ไร่ 17 ตารางวา เป็นที่ดินของจำเลยซึ่งได้ทำประโยชน์ต่อเนื่องมาประมาณ 20 ปีแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิในการขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินก็ไม่อาจจัดการอย่างใดได้ โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานที่ดินกันส่วนที่ดินที่มีการโต้แย้งคัดค้านออกแล้วออกโฉนดส่วนอื่นไปก่อนคือเฉพาะส่วนที่ไม่ได้พิพาท ซึ่งทำให้โจทก์ได้ที่ดินน้อยกว่าที่มีอยู่จริง 1 ไร่ 17 ตารางวา การที่จำเลยโต้แย้งคัดค้านการขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนเนื้อที่ 1 ไร่ 17 ตารางวา ดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหายไม่ต่ำกว่าไร่ละ 150 บาทต่อปี นับถึงวันฟ้อง 4 ปีเป็นเงิน 600 บาท และนับจากวันฟ้องอีกปีละ 150 บาท ขอให้พิพากษาว่าที่ดินบริเวณพื้นที่สีแดงตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 เนื้อที่1 ไร่ 17 ตารางวา เป็นที่ดินของโจทก์ และห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 600 บาท และค่าเสียหายในอัตราไร่ละ 150 บาทต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง กล่าวคือ เมื่อโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดที่ดินโจทก์เพื่อออกโฉนดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2523 นั้น เจ้าพนักงานรังวัดได้เรียกจำเลยมานำชี้และระวังแนวเขตที่ดินของจำเลยทางด้านทิศใต้ที่ติดกับที่ดินของโจทก์ จำเลยได้คัดค้านการนำชี้เขตของโจทก์ว่าไม่ถูกต้องรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย เจ้าพนักงานจึงได้ทำการสอบสวนเปรียบเทียบปรากฏว่าโจทก์ยอมรับการนำชี้เขตของจำเลยดังกล่าว และเจ้าพนักงานได้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานจึงได้ทำการออกโฉนดโดยมิได้กันส่วนที่มีการโต้แย้งคัดค้านตามที่โจทก์ฟ้อง ที่โจทก์อ้างว่าเดิมก่อนออกโฉนดที่ดินดังกล่าวมีหลักฐานตามหนังสือ ส.ค.1 ว่ามีเนื้อที่19 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา นั้นไม่เป็นความจริงเพราะหนังสือ ส.ค.1ไม่สามารถกำหนดเนื้อที่ได้แน่นอน เนื่องจากการคำนวณเนื้อที่ประมาณเอาเองและการนำชี้ที่ดินด้านอื่นของโจทก์ไม่ถูกต้อง จึงทำให้ที่ดินของโจทก์ขาดจำนวนไป เนื้อที่ที่โจทก์ว่าขาดไป 1 ไร่ 17 ตารางวานั้นไม่เป็นความจริง เพราะที่ดินพิพาทที่โจทก์ว่าเป็นที่ว่างนั้นเป็นทางสาธารณะมีลักษณะเป็นถนนลูกรังซึ่งเดิมทางสาธารณะดังกล่าวเป็นที่ดินของจำเลยและบิดาจำเลยมาก่อน โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปีนับแต่วันที่จำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ที่ดินพิพาทส่วนใหญ่เป็นถนนสาธารณะ จำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิหรือรบกวนการครอบครองของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาจำเลยถึงแก่กรรม นายชาตรี อยู่ประเสริฐยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…สำหรับปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นวัดในพระพุทธศาสนาซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 บัญญัติว่า” ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติและห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์” ดังนั้น ตราบใดที่ยังมิได้มีพระราชบัญญัติให้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ของวัดรายนี้ แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเท่าใด จำเลยก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ทั้งไม่อาจยกระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ขึ้นเป็นข้อโต้แย้งกับวัดได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องของโจทก์ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า ที่ดินในบริเวณพื้นที่สีแดงตามแผนที่พิพาทท้ายฟ้องเนื้อที่ 1 ไร่ 17 ตารางวา เป็นที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 600 บาทและค่าเสียหายต่อ ๆ ไปในอัตราไร่ละ 150 บาทต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท.

Share