คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6969/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132พนักงานสอบสวนมีอำนาจหน้าที่รวบรวมหลักฐานในคดีความ เมื่อผู้เสียหายอ้างว่าลายมือชื่อในใบถอนเงินเป็นเอกสารปลอมจึงมีปัญหาว่าเป็นลายมือชื่อของผู้เสียหายหรือไม่ การที่พนักงานสอบสวนจัดให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อในกระดาษหลายแผ่นและจัดหาลายมือชื่อและลายมือเขียนของผู้เสียหายที่เคยลงลายมือชื่อหรือเขียนไว้ในที่อื่น ๆ ซึ่งมีจำนวนมากพอสมควรแล้วรวมส่งไปให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานตรวจเปรียบเทียบ แม้จะไม่ได้ตัวอย่างลายมือชื่อที่ผู้เสียหายให้ไว้แก่ธนาคารขณะเปิดบัญชีรวมไปด้วยก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบแล้ว ในเมื่อพนักงานสอบสวนเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่เพียงพอแล้วสำหรับพิสูจน์ความผิดของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลอมใบถอนเงินธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)อันเป็นเอกสารสิทธิขึ้นทั้งฉบับ โดยนำแบบพิมพ์ใบถอนเงินธนาคารดังกล่าวมากรอกข้อความใจความว่า วันที่ 29 ตุลาคม 2541 นางสาวดารุณี ถามะณีผู้เสียหายมอบฉันทะให้จำเลยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายที่ธนาคารดังกล่าว สาขาสามโคก จำนวนเงิน 101,000 บาท และลงลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหายในช่องเจ้าของบัญชีทั้งในส่วนใบถอนเงินและส่วนใบมอบฉันทะเพื่อให้พนักงานธนาคารดังกล่าวหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารใบถอนเงินที่แท้จริงโดยความจริงผู้เสียหายมิได้มอบฉันทะให้จำเลยไปถอนเงินและรับเงินจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด แล้วจำเลยนำใบถอนเงินที่จำเลยทำปลอมขึ้นนั้นไปยื่นต่อพนักงานธนาคารดังกล่าวพร้อมสมุดคู่ฝากเพื่อถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย ธนาคารดังกล่าวหลงเชื่อว่าลายมือชื่อในใบถอนเงินปลอมนั้นเป็นลายมือชื่อของผู้เสียหายมอบฉันทะให้จำเลยถอนเงินจำนวน 101,000 บาท จึงมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,91, 93, 264, 265, 268 ริบของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย

จำเลยให้การปฏิเสธ และไม่รับว่าเคยต้องโทษตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268 ให้ลงโทษตามมาตรา 268 กระทงเดียว (ที่ถูกมาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง)จำคุก 5 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 คงจำคุก7 ปี 6 เดือน ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า ก่อนเกิดเหตุนายพงษ์สิทธิ์ เจริญสุข สามีของนางสาวดารุณีถามะณี ผู้เสียหายถูกฟ้องข้อหารับของโจร ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลโดยใช้สมุดเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอำเภอสามโคก เป็นหลักประกัน ศาลตีราคาค่าประกัน 100,000บาท ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม 2541 ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษ จากนั้นผู้เสียหายมอบฉันทะให้จำเลยรับสมุดเงินฝากคืนจากศาลโดยผู้เสียหายลงลายมือชื่อในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและใบมอบฉันทะตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ให้จำเลยไว้ ต่อมาในวันเกิดเหตุจำเลยได้นำเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 และใบถอนเงินตามเอกสารหมาย จ.3 ไปติดต่อพนักงานธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)สาขาอำเภอสามโคก เพื่อขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายจำนวน101,000 บาท และพนักงานธนาคารได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยรับไปแล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยปลอมใบถอนเงินตามเอกสารหมาย จ.3 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายและนายพงษ์สิทธิ์ สามีผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าผู้เสียหายเพียงแต่มอบหมายให้จำเลยรับสมุดเงินฝากคืนจากศาลแทนเท่านั้น มิได้มอบฉันทะให้จำเลยไปถอนเงินตามใบถอนเงินเอกสารหมาย จ.3 ด้วย และในการมอบหมายดังกล่าวผู้เสียหายก็เพียงแต่ลงลายมือชื่อในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและใบมอบฉันทะตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เท่านั้น ซึ่งในขณะนั้นใบมอบฉันทะตามเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความที่พิมพ์ไว้ถึงคำว่า “…จนเสร็จการ” โดยไม่มีข้อความว่า “อีกทั้งให้มีอำนาจในการเบิกถอนเงินจากธนาคารด้วย” เห็นว่า พยานโจทก์ 2 ปากนี้เบิกความสอดคล้องต้องกันและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ทั้งยังปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่นายพงษ์สิทธิ์ในการดำเนินคดีในศาลจนคดีแล้วเสร็จด้วยดี นับว่าจำเลยเป็นผู้มีบุญคุณต่อผู้เสียหายและนายพงษ์สิทธิ์อีกด้วยซ้ำไป จึงไม่มีเหตุที่พยานโจทก์ทั้งสองจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องได้รับโทษโดยปราศจากมูลความจริง กรณีน่าเชื่อว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความตามสัตย์จริง นอกจากนี้แล้วข้อเท็จจริงก็ยังได้ความจากพันตำรวจเอกกิจจา สุนทรส เจ้าพนักงานผู้ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อที่ปรากฏในเอกสารพยานโจทก์อีกปากหนึ่งว่า ลายมือชื่อในใบถอนเงินตามเอกสารหมาย จ.3 กับเอกสารที่เปรียบเทียบตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.8 มีคุณสมบัติในการเขียนรูปร่างลักษณะของตัวอักษรแตกต่างกัน จึงน่าจะไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลเดียวกัน นอกเหนือจากนี้แล้วในใบมอบฉันทะตามเอกสารหมาย จ.2 ตรงข้อความที่ว่า “อีกทั้งให้มีอำนาจในการเบิกถอนเงินจากธนาคารด้วย” กับข้อความว่า “…จนเสร็จการ” เป็นการพิมพ์ต่อเนื่องกันไปในบรรทัดเดียวกัน แต่กลับปรากฏว่าแนวบรรทัดเหลื่อมกันโดยข้อความว่า “อีกทั้งให้มีอำนาจในการเบิกถอนเงินจากธนาคารด้วย”นั้น อยู่ในระดับที่สูงกว่าข้อความที่พิมพ์อยู่ข้างหน้า และยิ่งไปกว่านั้นอักษรตัว “ร” ซึ่งเป็นอักษรตัวสุดท้ายของคำว่า “การ” ก็เป็นที่เห็นได้ว่ามีการพิมพ์ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการจะปรับระดับตัวอักษรที่จะพิมพ์ต่อไปให้ตรงกับข้อความข้างหน้าที่มีอยู่เดิมนั่นเอง กรณีจึงน่าเชื่ออย่างยิ่งว่าได้มีการพิมพ์ข้อความที่ว่า “อีกทั้งให้มีอำนาจในการเบิกถอนเงินจากธนาคารด้วย” เพิ่มเติมในภายหลัง นางนันทนา ทองขันธ์ ผู้ช่วยสมุห์บัญชีธนาคารพยานโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 12 นาฬิกา จำเลยเป็นผู้นำเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 มาติดต่อขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายไปจำนวน 101,000 บาท ซึ่งจำเลยก็เบิกความยอมรับในข้อนี้ พันตำรวจเอกกิจจากับนางนันทนาพยานโจทก์2 ปากนี้ถือได้ว่าเป็นพยานคนกลาง ทั้งไม่เคยรู้จักและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความตามที่ได้รู้เห็นมาจริงและเมื่อได้พิเคราะห์ถึงว่าจำเลยเป็นผู้ที่เข้ามาดำเนินการทางศาลแทนผู้เสียหายแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่มีบุคคลอื่นใดเกี่ยวข้องอีกและจำเลยเป็นผู้เบิกถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหายไปจริง พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยนั้น มีจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยได้รับมอบหมายจากพรรคก้าวหน้าให้ช่วยเหลือนายพงษ์สิทธิ์ จำเลยนำเงินส่วนกลางของพรรคจำนวน 100,000 บาท ไปเป็นหลักประกันขอปล่อยตัวชั่วคราวนายพงษ์สิทธิ์โดยให้ผู้เสียหายนำเงินจำนวนดังกล่าวไปเปิดบัญชีเองเมื่อเสร็จคดีผู้เสียหายมอบฉันทะให้จำเลยรับสมุดเงินฝากคืนจากศาลและลงลายมือชื่อมอบฉันทะให้จำเลยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายตามเอกสารหมาย จ.3 ด้วย เมื่อจำเลยถอนเงินแล้วก็นำไปคืนให้เจ้าหน้าที่การเงินของพรรคดังกล่าว เห็นว่า จำเลยเบิกความเลื่อนลอยขัดต่อเหตุผล และไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุนให้น่าเชื่อฟัง จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่า จำเลยปลอมใบถอนเงินตามเอกสารหมาย จ.3 ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อมีปัญหาระหว่างใบถอนเงินตามเอกสารหมาย จ.3 กับตัวอย่างลายมือชื่อที่ผู้เสียหายให้ไว้แก่ธนาคารขณะเปิดบัญชีจึงต้องตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบเอกสารดังกล่าว การที่พนักงานสอบสวนให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อต่อหน้าและแสวงหาลายมือชื่อของผู้เสียหายจากที่อื่น ๆ ส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์โดยไม่มีตัวอย่างลายมือชื่อที่ผู้เสียหายให้ไว้แก่ธนาคารขณะเปิดบัญชีจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 132 พนักงานสอบสวนมีอำนาจหน้าที่รวบรวมหลักฐานในคดีความคดีนี้เมื่อผู้เสียหายอ้างว่าลายมือชื่อในใบถอนเงินตามเอกสารหมาย จ.3ไม่ใช่ลายมือชื่อของตน แต่จำเลยอ้างว่าเป็นลายมือชื่อของผู้เสียหายซึ่งลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลย จึงมีปัญหาว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของผู้เสียหายหรือไม่ ฉะนั้นการที่พนักงานสอบสวนจัดให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อต่อหน้าตนในกระดาษหลายแผ่นตามเอกสารหมายจ.8 และขวนขวายจัดหาลายมือชื่อและลายมือชื่อเขียนของผู้เสียหายที่เคยลงลายมือชื่อหรือเขียนไว้ในที่อื่น ๆ ซึ่งมีจำนวนมากพอสมควรตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.11 แล้วรวมส่งไปให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานตรวจเปรียบเทียบที่กองพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แม้จะไม่ได้ตัวอย่างลายมือชื่อที่ผู้เสียหายให้ไว้แก่ธนาคารขณะเปิดบัญชีรวมไปด้วยก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบแล้วในเมื่อพนักงานสอบสวนเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่เพียงพอแล้วสำหรับพิสูจน์ความผิดของจำเลยส่วนจะมีน้ำหนักรับฟังได้เพียงใดนั้น เป็นดุลพินิจของศาล ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share