คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6968/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยจอดรถในทางเดินรถโดยไม่แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 56 วรรคสอง,152 เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กาย ซึ่งเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291,390 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43(4) และ 157ต้องเป็นผู้ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน และตามมาตรา 78 และ 160 ต้องเป็นผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นและไม่หยุดให้ความช่วยเหลือพร้อมแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งการจะเป็นความผิดดังกล่าวได้ต้องเป็นผู้ขับรถที่กำลังแล่นอยู่หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดหรือหยุดรถไม่ เมื่อจำเลยจอดรถในทางเดินรถ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43(4),78,157 และ 160 วรรคหนึ่งปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องในความผิดดังกล่าวทั้งสองข้อหาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง,215,225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อด้วยความประมาทโดยจอดรถล้ำเข้ามาในเส้นทางเดินรถ อันมีลักษณะกีดขวางการจราจรและไม่แสดงเครื่องหมายเพื่อแสดงให้รถยนต์ที่แล่นผ่านไปมาพบเห็น เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกหกล้อซึ่งมีนายสงค์คำจันทร์ เป็นผู้ควบคุม ขับมาพุ่งเข้าชนรถยนต์ที่จำเลยจอดล้ำอยู่บนถนนที่เกิดเหตุและเป็นเหตุให้นายอำนวย ยางงาม กับนายนิสิต วิเทียนเทียบ ซึ่งโดยสารมากับรถยนต์บรรทุกหกล้อคันดังกล่าวถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายตามลำดับกับรถยนต์บรรทุกหกล้อได้รับความเสียหาย ภายหลังเกิดเหตุดังกล่าวจำเลยไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่ไปแสดงตัวกับแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 5, 43(4), 56, 78, 157, 160

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 56 วรรคสอง, 78, 152, 160 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษ ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กาย เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 4 ปี ฐานจอดรถอยู่ในทางเดินรถกีดขวางการจราจรและไม่แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณปรับ 1,000 บาท ฐานขับรถแล้วหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก4 ปี 2 เดือน และปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157 อีกมาตราหนึ่ง ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กาย ให้จำคุก 1 ปี เมื่อรวมโทษฐานไม่หยุดช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำคุก 2 เดือน และฐานจอดรถกีดขวางการจราจรและไม่แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณ ปรับ 1,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุก 1 ปี 2 เดือน ปรับ 1,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-5184 ประจวบคีรีขันธ์ ไปตามถนนเพชรเกษม จากอำเภอทับสะแกมุ่งหน้าไปอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งมีสภาพเป็นทางลงเนินและมืด เครื่องยนต์รถขัดข้องทำให้รถยนต์บรรทุกสิบล้อไม่อาจแล่นต่อไปได้ ต่อมานายประสงค์ คำจันทร์ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 81-0892 ราชบุรี แล่นมาในทิศทางเดียวกันกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุรถยนต์บรรทุกหกล้อได้พุ่งชนท้ายรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวในขณะที่รถยนต์บรรทุกสิบล้อจอดเพราะเครื่องยนต์ขัดข้องอยู่เป็นเหตุให้ผู้ที่โดยสารมากับรถยนต์บรรทุกหกล้อได้แก่นายอำนวย ยางงาม ถึงแก่ความตาย และนายนิสิต วิเทียนเทียบ ได้รับอันตรายแก่กาย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าขณะเกิดเหตุรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันที่จำเลยขับจอดอยู่ระหว่างเส้นแบ่งที่พักรถกับไหล่ถนน ไม่ได้จอดคร่อมเส้นแบ่งช่องทางเดินรถซึ่งเป็นเส้นประ และเมื่อจำเลยจอดรถยนต์บรรทุกสิบล้อแล้ว เครื่องยนต์รถขัดข้อง ระบบไฟฟ้าเสีย ทำให้ไม่อาจให้สัญญาณไฟได้ แต่จำเลยก็ได้พยายามหากิ่งไม้และทางมะพร้าวมาไว้บนถนนเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีรถจอดอยู่ เหตุรถชนกันดังกล่าวจึงไม่ได้เกิดจากความประมาทและผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายแสน กรุงษาสี ซึ่งอาศัยมากับรถยนต์บรรทุกสิบล้อเบิกความว่า นายแสนอาศัยโดยสารรถยนต์บรรทุกสิบล้อมาเพื่อเดินทางไปจังหวัดนครปฐม เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุสภาพถนนเป็นเนินลาดลง ไฟหน้ารถยนต์บรรทุกสิบล้อดับจำเลยจะจอดรถเข้าข้างทางแต่เครื่องยนต์รถดับด้วย จำเลยจึงจอดรถยนต์บรรทุกสิบล้อบริเวณช่องเส้นประของถนนด้านซ้ายมือโดยในชั้นสอบสวนนายแสนก็ได้ให้การว่าเมื่อรถยนต์บรรทุกสิบล้อระบบไฟในรถดับลงจำเลยพยายามบังคับรถให้ชิดขอบถนนเพื่อจะจอด แต่ไม่สามารถเข้าชิดขอบถนนได้เนื่องจากมีรถเทลเลอร์จอดอยู่ก่อน จึงจอดคร่อมเส้นแบ่งช่องทางเดินรถซึ่งเป็นเส้นประซึ่งตรงกับคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาที่ว่าจำเลยนำรถจอดข้างทางไม่ได้ เพราะมีรถเทลเลอร์จอดชิดขอบทางด้านซ้ายของถนนจำเลยจึงจอดคร่อมช่องทางเดินรถซึ่งเป็นเส้นประ และเมื่อพิจารณาแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุกับภาพถ่าย เห็นได้ว่า ถนนบริเวณที่เกิดเหตุมีช่องเดินรถทางตรง 2 ช่องทาง มีเครื่องหมายลูกศรสีขาว และถัดจากช่องเดินรถช่องขวามือเป็นช่องทางสำหรับกลับรถยนต์ ส่วนด้านซ้ายมือของช่องเดินรถช่องที่ 1 จะเป็นช่องทางสำหรับจอดรถหรือพักรถ ถัดจากช่องนี้ไปจะเป็นไหล่ถนนส่วนที่เป็นเส้นประก็คือเส้นที่กั้นระหว่างช่องทางสำหรับจอดรถหรือพักรถกับช่องเดินรถช่องที่ 1 สำหรับรอยห้ามล้อของรถยนต์บรรทุกหกล้อตามที่ปรากฏในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ จะอยู่ในช่องเดินรถช่องที่ 1 ซ้ายมือ ห่างจากบริเวณที่พบเศษกระจกตกประมาณ 10 เมตร เศษกระจกกระจายตามพื้นส่วนใหญ่ และมีกระสอบปลาป่นตกจากรถยนต์บรรทุกสิบล้ออีก4 กระสอบอยู่ห่างจากบริเวณที่เศษกระจกตกประมาณ 3 เมตร อยู่ในช่องเดินรถช่องที่ 1ซ้ายมือเช่นกัน ประกอบกับสภาพความเสียหายของรถยนต์บรรทุกหกล้อตามภาพถ่ายจะอยู่ตรงบริเวณด้านหน้าซ้ายของรถ ส่วนรถยนต์บรรทุกสิบล้อได้รับความเสียหายเฉพาะด้านท้ายรถมุมด้านขวา แสดงว่ารถยนต์บรรทุกหกล้อพุ่งชนส่วนท้ายมุมขวาของรถยนต์บรรทุกสิบล้อเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยจอดรถยนต์บรรทุกสิบล้อคร่อมเส้นประล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถช่องที่ 1 ด้านซ้ายมือซึ่งแม้จะเป็นกรณีจำเป็นที่จำเลยจะต้องจอดรถอยู่ในทางเดินรถเนื่องจากเครื่องยนต์ขัดข้อง แต่จำเลยก็ต้องแสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้แก่ เครื่องหมายทำด้วยแผ่นโลหะรูปสามเหลี่ยมด้านเท่ามีความยาวไม่ต่ำกว่าด้านละ 50 เซนติเมตร ติดด้วยแถบสะท้อนแสงพื้นสีขาว ขอบสีแดงกว้าง 5 เซนติเมตร มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีดำ กว้าง 8 เซนติเมตร ยาว15 เซนติเมตร หัวท้ายมนอยู่บนพื้นสีขาวในแนวดิ่งพร้อมขาตั้ง โดยให้ฐานของรูปสามเหลี่ยมขนานกับพื้นไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของรถห่างจากรถไม่ต่ำกว่า 50 เมตรหรือมิฉะนั้นต้องให้สัญญาณเป็นไฟกระพริบสีเหลืองอำพันหรือสีขาวติดอยู่หน้ารถทั้งด้านซ้ายและด้านขวาและสัญญาณไฟกระพริบสีแดงหรือสีเหลืองอำพันติดอยู่ท้ายรถทั้งด้านซ้ายและด้านขวาเพื่อแสดงให้รถยนต์ที่แล่นผ่านไปมาพบเห็น และไม่ชนกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันที่จำเลยขับจอด แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณไฟดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยคงอ้างแต่เพียงว่าจำเลยได้ตัดกิ่งไม้และทางมะพร้าววางไว้บนถนน ซึ่งก็ไม่ได้ความว่ากิ่งไม้และทางมะพร้าวมีจำนวนมากเพียงพอที่จะทำให้ผู้ที่ขับรถยนต์แล่นมาในช่องทางเดินรถที่เกิดเหตุเห็นได้ชัดเจนในระยะทางที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือห้ามล้อได้ทันหรือไม่ จำเลยเองก็นำสืบรับว่าสภาพอากาศในวันเวลาที่เกิดเหตุมีพายุฝนตกตลอดคืน ถนนบริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางลงเนินและมืดเมื่อจำเลยไม่ได้ทำเครื่องหมายหรือสัญญาณไฟตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าวจึงเป็นการยากที่ผู้ขับขี่รถยนต์ที่แล่นมาในช่องทางเดินรถช่องนี้จะขับหลบหลีกหรือห้ามล้อไม่ให้ชนกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จอดอยู่ได้ทัน เหตุรถชนกันดังกล่าวจึงเกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย จำเลยมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 และฐานจอดรถในทางเดินรถโดยไม่แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสอง, 152 การที่จำเลยจอดรถในทางเดินรถโดยไม่แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กาย เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กาย จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ปัญหานี้แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง, 225 และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78, 157 และ 160 วรรคหนึ่ง ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) และ157 ต้องเป็นผู้ขับขี่ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน และมาตรา 78 และ 160 ต้องเป็นผู้ขับรถหรือขี่รถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น และไม่หยุดให้ความช่วยเหลือพร้อมแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งกรณีจะเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวต้องเป็นผู้ขับขี่รถที่กำลังแล่นอยู่ หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดรถอยู่หรือหยุดรถไม่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยจอดรถในทางเดินรถ การกระทำของจำเลยไม่ได้ขับรถโดยประมาท และไม่ได้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4),78, 157 และ 160 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาขึ้นมาในข้อกฎหมายศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องในความผิดดังกล่าวทั้งสองข้อหาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 215, 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยอ้างว่าผู้ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อมีส่วนกระทำผิดด้วยและเกิดเหตุแล้วได้หลบหนีไปทันที แต่จำเลยเข้ามอบตัวนั้น เห็นว่า หลังเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ช่วยเหลือญาติของผู้ตายหรือผู้เสียหายเพื่อเป็นการบรรเทาผลของการกระทำความผิด อีกทั้งยังหลบหนีไปจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78, 157 และ 160 วรรคหนึ่ง สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 และความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 56, 152 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 คงจำคุก 1 ปี

Share