แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ อ. ฟ้องคดีเป็นใบมอบอำนาจที่ได้ทำในเมืองต่างประเทศ โดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ 2 คนลงชื่อต่อหน้าโนตารีปัปลิก และมีรองกงสุลไทย ณ เมืองนั้นลงชื่อเป็นพยาน ใบมอบอำนาจของโจทก์จึงเชื่อได้ว่าเป็นใบมอบอำนาจอันแท้จริง ไม่มีเหตุอันควรสงสัยใบมอบอำนาจดังกล่าวแต่อย่างใดดังนั้น แม้ อ. จะไม่เคยเดินทางไปบริษัทโจทก์ที่ประเทศมาเลเซียและโจทก์ไม่ได้นำกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ 2 คนมาเบิกความเป็นพยาน แต่จำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น หนังสือมอบอำนาจนั้นก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ และแม้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะได้ทำขึ้นก่อนโจทก์ทราบว่าจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคดีนี้แต่ข้อความในใบมอบอำนาจมีว่าโจทก์มอบอำนาจให้ อ. มีอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับการป้องกันเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และดำเนินการจนถึงที่สุดในศาลไทยได้ อ. จึงมีอำนาจฟ้องคดีผู้โต้แย้งสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ ข้อที่จำเลยฎีกาว่าใบมอบอำนาจไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้นั้น แม้จำเลยจะมิได้ให้การไว้ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคสอง หนังสือมอบอำนาจทำขึ้นในเมืองต่างประเทศ มีโนตารีปัปลิก และกงสุลไทย ณ เมืองนั้น รับรองอีกขึ้นหนึ่งว่าลายมือชื่อและตราที่ประทับเป็นลายมือชื่อและตราที่ประทับของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจริง เป็นหนังสือมอบอำนาจถูกต้องตามกฎหมายของประเทศดังกล่าวแล้วไม่อยู่ในบังคับที่จะต้อง ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ห้ามศาลมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีเรื่องเดิมนั้นในศาลเดียวกันต่อไปอีกทั้งคดีหรือเฉพาะประเด็นบางเรื่องซึ่งศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งครั้งหนึ่งและศาลนั้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นอีก จึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเดิมในศาลเดียวกัน ดังนั้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีของศาลแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 คดีเดิมโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 143673 ที่โจทก์ยื่นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2527 ดีกว่าจำเลยที่ 2 ห้ามการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ตามคำขอเลขที่ 139116ซึ่งยื่นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2527 แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2530 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทตามคำขอเลขที่ 134038 จึงทราบว่าจำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปขอจดทะเบียนอีก 2 คำขอ คือคำขอเลขที่ 142555 ซึ่งได้รับการจดทะเบียนแล้วสำหรับสินค้าจำพวก 42 ทั้งจำพวก และคำขอเลขที่ 163600 ซึ่งยังไม่ได้รับการจดทะเบียน ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 142555 และให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเลขที่ 16360 ดังนี้ ประเด็นข้อพิพาทในคดีเดิมจึงมีว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 143373 ดีกว่าจำเลยตามคำขอเลขที่ 139116 หรือไม่ส่วนคดีนี้ประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการพิพาทตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 164038 ดีกว่าจำเลยตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 142555 และ 163600 หรือไม่ และโจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 142555 และให้จำเลยถอนคำขอเลขที่ 163600 หรือไม่ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีเดิมกับคดีนี้จึงอาศัยข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่แตกต่างกันฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิม เพราะมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตราม้าทองคำพิพาทซึ่งได้จดทะเบียนที่ประเทศมาเลเซีย สำหรับสินค้าลูกมะกอก(ลูกหนำเลี้ยบ) ในน้ำเกลือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 โดยได้รับโอนจากฉ.และท.เมื่อพ.ศ.2522ได้สั่งสินค้าลูกมะกอก(ลูกหนำเลียบ)ในน้ำเกลือของโจทก์ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ก่อนจำเลยและบริษัท ล. ของบิดาจำเลยจะผลิตสินค้าอย่างเดียวกันโดยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทออกจำหน่ายใน พ.ศ. 2520 โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย และมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยเป็นคดีนี้ได้ แม้คำขอที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนไว้ก่อนฟ้องคดีนี้จะระบุชื่อสินค้าเฉพาะอย่างในจำพวก 42 คือ ลูกมะกอก(ลูกหนำเลี๊ยบ) ในน้ำเกลือ ส่วนคำขอของจำเลยระบุว่าจำพวก 42 ทั้งจำพวกก็ตาม เพราะเป็นการพิพาทกันระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าใครจะมีสิทธิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของตนดีกว่ากันตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) ศาลชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทตามคำขอของจำเลยได้ เครื่องหมายการค้ารูปม้า 2 ตัว ของจำเลยคงมีม้าตัวใหญ่กับชื่อภาษาอังกฤษว่า GOLDENHORSEBRAND อยู่ข้างบน กับชื่ออักษรจีนอีก 3 ตัว อยู่ข้างล่างเหมือนเครื่องหมายการค้าพิพาทรูปม้าของโจทก์ทุกประการคงมีต่างกันเฉพาะรูปม้าตัวเล็ก ๆ เพิ่มเติมที่มุมล่างด้านซ้ายในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเท่านั้นเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิด เพราะผู้ซื้อรูปม้าตัวใหญ่แล้วก็อาจเข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์ คงไม่ได้สังเกตรูปม้าตัวเล็กอีก จำเลยอาจเพิ่มเติมรูปม้าในเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นม้า 2 ตัว ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความให้แตกต่างกับเครื่องหมายการค้าพิพาทรูปม้าของโจทก์ได้อีกหลายแบบเพื่อแสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่จำเลยหาได้ทำไม่ การแก้ไขเพิ่มเติมรูปเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวส่อให้เห็นความไม่สุจริตของจำเลยที่เจตนาจะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมในคดีของศาลแพ่ง เมื่อโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยเสียด้วยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศมาลเซียโดยมีนายฉัวฮีทิ้ว และนางอึ้งลักเฮี้ยงหรืออึ้งเสียกชิว เป็นกรรมการของโจทก์ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ หลายชนิดรวมทั้งลูกมะกอก (ลูกหนำเลี้ยบ)ในน้ำเกลือบรรจุกระป๋อง โจทก์มอบอำนาจให้นายอดุลย์ ธนรรฆากรดำเนินคดีแทนตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตราม้าทองคำเป็นรูปม้าตัวเดียว มีอักษรโรมันคือ GOLDEN HORSE BRAND อยู่ด้านบนและอักษรจีน 3 ตัว อยู่ด้านล่างอ่างว่า กิมเบ๋ไป๊ และได้จดทะเบียนในประเทศมาเลเซียแล้วตามเครื่องหมายการค้าท้ายฟ้อง โจทก์ใช้และโฆษณาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าลูกมะกอก (ลูกหนำเลี้ยบ) บรรจุกระป๋อง และได้ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยนานกว่า 10 ปี เมื่อวันที่ 14พฤศจิกายน 2527 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวก 42 ประเภทลูกมะกอก (ลูกหนำเลี้ยบ) ในน้ำเกลือบรรจุกระป๋องต่อ ตามคำขอเลขที่ 143673 แต่ไม่อาจจดทะเบียนได้เนื่องจากซ้ำกับคำขอจดทะเบียนเลขที่ 139116 ของจำเลย ในสินค้าจำพวก 42 ประเภทเดียวกับของโจทก์ โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยเป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่ง ขอให้พิพากษาแสดงว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย ศาลแพ่งพิพากษาตามยอมตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1849/2530 โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้วส่วนจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา คำขอจดทะเบียนเลขที่ 139116ของจำเลยจึงถูกเพิกถอนไป ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2530 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีก ตามคำขอเลขที่164038 จึงทราบว่าจำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปขอจดทะเบียนอีก 2 คำขอ คือ คำขอเลขที่ 142555 และคำขอเลขที่ 163600 สำหรับสินค้าจำพวก 42 ซึ่งนายทะเบียนรับจดทะเบียนให้ 1 คำขอ คือคำขอเลขที่ 163600 สำหรับสินค้าจำพวก 42 ซึ่งนายทะเบียนรับจดทะเบียนให้ 1 คำขอ คือคำขอเลขที่ 142555 โจทก์ไม่อาจจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 164038 ได้ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยถอนการจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 142555 และถอนคำขอจดทะเบียนเลขที่ 163600 แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 142555 ซึ่งนายทะเบียนรับจดทะเบียนแล้ว และถอนคำขอจดทะเบียนเลขที่ 163600 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของนายทะเบียน หากจำเลยไม่ปฏิบัติงาน ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยใช้และยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเครื่องหมายการค้าอื่นที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 อีกต่อไป
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย นายฉั่วฮีทิ้ว และนางอึ้งลักเฮี้ยงหรืออึ้งเสียกชิวไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจ หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัดเป็นเอกสารปลอมโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจที่แท้จริงแต่เป็นเอกสารปลอมหากทำขึ้นจริงก็มิได้มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลย เพราะทำขึ้นก่อนจำเลยยื่นขอจดทะเบียน ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1849/2530 ของศาลแพ่ง เพราะมูลคดีเดียวกันและโจทก์จำเลยเป็นคนเดียวกัน จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตราม้าทองคำที่โจทก์ขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 164038 นั้นลอกเลียนแบบของจำเลยโจทก์เคยสั่งซื้อสินค้าจากจำเลย จำเลยผลิตลูกมะกอก (ลูกหนำเลี้ยบ) บรรจุกระป๋องโดยใช้เครื่องหมายการค้านี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 แต่เพิ่งขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 142555เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2527 นายทะเบียนรับจดทะเบียนให้โดยสุจริตและประกาศให้ประชาชนทราบ โจทก์ก็ทราบแต่ไม่คัดค้าน จำเลยใช้เครื่องหมายการค้านี้เรื่อยมาโดยผลิตสินค้าที่บริษัทหลุยส์ฟูดส์จำกัด โจทก์ไม่เคยนำสินค้าดังกล่าวมาขายในประเทศไทย จำเลยเป็นผู้คัดค้านเครื่องหมายการค้านี้เองมิได้ลอกเลียนใคร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 142555 และถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 163600 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยใช้และยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเครื่องหมายการค้าอื่นที่เหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้นายอดุลย์ธนรรฆากรฟ้องคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.7เป็นใบมอบอำนาจที่ได้ทำในเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย โดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ 2 คน ลงชื่อเป็นภาษาจีนต่อหน้าโรตารีปับลิก และรองกงสุลไทย ณ เมืองปีนังลงชื่อเป็นพยานตามเอกสารหมาย จ.9 ใบมอบอำนาจของโจทก์จึงเชื่อได้ว่าเป็นใบมอบอำนาจอันแท้จริง ไม่มีเหตุอันควรสงสัยในใบมอบอำนาจดังกล่าวแต่อย่างใดเอกสารหมาย จ.7 จึงมิใช่เอกสารปลอม ดังนั้น แม้นายอดุลย์จะไม่เคยเดินทางไปบริษัทโจทก์ที่ประเทศมาเลเซีย และโจทก์ไม่ได้นำกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ 2 คน มาเบิกความเป็นพยาน แต่จำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เป็นเป็นอย่างยิ่ง จึงไม่เป็นข้อพิรุธดังที่จำเลยฎีกา และแม้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะได้ทำขึ้นก่อนโจทก์ทราบว่าจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคดีนี้ แต่ข้อความในใบมอบอำนาจมีว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายอดุลย์มีอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับการป้องกันเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และดำเนินการจนถึงที่สุดในศาลไทยได้ นายอดุลย์จึงมีอำนาจฟ้องคดีผู้โต้แย้งสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าใบมอบอำนาจไม่ได้ปิดอากรแสตมป์รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้นั้น แม้ข้อที่จำเลยฎีกาดังกล่าว จำเลยมิได้ให้การไว้ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความเรียบร้อยของประชาชนจำเลยจึงยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง เห็นว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.7 ทำขึ้นในต่างประเทศ มีโนตารีปับลิคและกงสุลไทย ณ เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซียรับรองอีกชั้นหนึ่งว่าลายมือชื่อและตราที่ประทับตามเอกสารหมาย จ.9 เป็นลายมือชื่อและตราประทับของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจริง เป็นหนังสือมอบอำนาจถูกต้องตามกฎหมายของประเทศดังกล่าวแล้ว ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้
จำเลยฎีกาต่อไปว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1849/2530 ของศาลแพ่ง และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ห้ามศาลมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีเรื่องเดิมนั้นในศาลเดียวกันต่อไปอีกทั้งคดีหรือเฉพาะประเด็นบางเรื่องซึ่งศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งครั้งหนึ่งและศาลนั้นมีคำพิพากษาแล้วโจทก์มาฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นอีก จึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเดิมในศาลเดียวกัน ดังนั้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1849/2530 ของศาลแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 คงมีปัญหาว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวตามมาตรา 148 หรือไม่เท่านั้นศาลฎีกาเห็นว่า คดีเดิมโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทตามคำขอเลขที่ 143673 ที่โจทก์ยื่นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2527ดีกว่าจำเลยที่ 2 ห้ามการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2ตามคำขอเลขที่ 139116 ซึ่งยื่นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2527 แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2530 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทตามคำขอเลขที่ 164038 จึงทราบว่าจำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปขอจดทะเบียนอีก 2 คำขอ คือคำขอเลขที่ 142555 ซึ่งได้รับการจดทะเบียนแล้วสำหรับสินค้าจำพวก42 ทั้งจำพวก และคำขอเลขที่ 163600 ซึ่งยังไม่ได้รับการจดทะเบียนขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่142555 และให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเลขที่ 163600 ดังนี้ประเด็นข้อพิพาทในคดีเดิมจึงมีว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 143673 ดีกว่าจำเลยตามคำขอเลขที่139116 หรือไม่ ส่วนคดีนี้ประเด็นข้อพิพาทมีว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 164038 ดีกว่าจำเลยตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 142555 และ 163600 หรือไม่ และโจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 142555 และให้จำเลยถอนคำขอเลขที่ 163600 หรือไม่ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีเดิมกับคดีนี้จึงอาศัยข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่แตกต่างกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิม เพราะมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148
จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทตามคำขอจดทะเบียนเลขที่142555 และให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเลขที่ 163600 เพราะจำเลยมีสิทธิดีกว่าเห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทซึ่งได้จดทะเบียนที่ประเทศมาเลเซีย สำหรับสินค้าลูกมะกอก(ลูกหนำเลี้ยบ) ในน้ำเกลือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 โดยได้รับโอนจากนายฉัวฮีทิ้วและนางทอเซียมชวนเมื่อ พ.ศ. 2522 นางเพ็ญศิริได้สั่งซื้อสินค้าลูกมะกอก (ลูกหนำเลี้ยบ) ในน้ำเกลือ ของโจทก์ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่พ.ศ. 2519 ก่อนจำเลยและบริษัทหลุยส์ฟู๊ด จำกัด ของบิดาจำเลยจะผลิตสินค้าอย่างเดียวกันโดยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทออกจำหน่ายใน พ.ศ. 2520 ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้ผลิตลูกมะกอก(ลูกหนำเลี้ยบ) ในน้ำเกลือออกจำหน่ายในประเทศไทยในปริมาณมากกว่าสินค้าของโจทก์ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยหลายร้อยเท่านั้น จำเลยก็ไม่มีสิทธินำเครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์มาใช้กับสินค้าของจำเลยได้ข้อนี้เห็นได้จากคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1845/2530 ของศาลแพ่ง ซึ่งศาลพิพากษาตามข้อตกลงของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยตกลงให้โจทก์มีสิทธิใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราม้าทองคำซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าพิพาทคดีนี้เฉพาะสินค้าประเภทลูกหนำเลี้ยบแต่เพียงผู้เดียว โดยจำเลยได้รับเงินค่าตอบแทน 50,000 บาท ไปจากโจทก์ แสดงว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย ที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทไว้อีกคำขอหนึ่งคือคำขอเลขที่ 142555 ใช้กับสินค้าจำพวก 42 ทั้งจำพวกก่อนโจทก์ฟ้องคดีก่อน แม้นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนให้จำเลยแล้วก็ตามเมื่อฟังว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทตามคำขอเลขที่ 142555 ของจำเลยเอกสารหมาย จ.36/2 เป็นคดีนี้ได้ แม้คำขอจดทะเบียนเลขที่ 164038 ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนไว้ก่อนฟ้องคดีนี้จะระบุชื่อสินค้าเฉพาะอย่างในจำพวก 42 คือลูกมะกอก (ลูกหนำเลี้ยบ) ในน้ำเกลือ ส่วนคำขอของจำเลยระบุว่าจำพวก 42 ทั้งจำพวกก็ตาม เพราะเป็นการพิพาทกันระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าใครจะมีสิทธิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของตนดีกว่ากันตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 41(1) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทตามคำขอเลขที่ 142555 ของจำเลยจึงชอบแล้ว
ส่วนกรณีเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ 163600 ของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.36/3 ที่มีรูปม้าตัวเล็ก ๆ ในวงกลมสีขาวเพิ่มขึ้นอีกตัวหนึ่งที่มุมล่างด้านซ้าย ซึ่งโจทก์ขอให้จำเลยถอนคำขอดังกล่าวด้วยนั้น จำเลยฎีกาว่า เป็นเรื่องที่จำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมที่ให้จำเลยเปลี่ยนแปลงรูปเครื่องหมายการค้าพิพาทโดยเพิ่มรูปม้าอีกตัวหนึ่งรวมกันอย่างน้อย 2 ตัว ขึ้นไปตามข้อ 3 ของสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่1849/2530 ของศาลแพ่ง จำเลยจึงได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยเพิ่มรูปม้าตัวเล็ก ๆ ที่มุมล่างด้านซ้ายสำหรับสินค้าประเภทลูกมะกอก (ลูกหนำเลี้ยบ) ในน้ำเกลืออีกคำขอหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยถอนคำขอนั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาเครื่องหมายการค้ารูปม้า 2 ตัว ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 163600ของจำเลย เปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าพิพาทรูปม้าทองคำตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 164038 ตามเอกสารหมาย จ.37 ของโจทก์ ซึ่งฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยแล้ว เห็นว่า เครื่องหมายการค้ารูปม้า 2 ตัว ของจำเลยคงมีม้าตัวใหญ่กับชื่อภาษาอังกฤษว่าGOLDEN HORSE BRAND อยู่ข้างบนกับชื่ออักษรจีนอีก 3 ตัว อยู่ข้างล่างเหมือนเครื่องหมายการค้าพิพาทรูปม้าของโจทก์ทุกประการคงมีต่างกันเฉพาะรูปม้าตัวเล็ก ๆ เพิ่มเติมที่มุมล่างด้านซ้ายในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเท่านั้น เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดเพราะผู้ซื้อเห็นรูปม้าตัวใหญ่แล้วก็อาจเข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์ คงไม่ได้สังเกตรูปม้าตัวเล็กอีกจำเลยอาจเพิ่มเติมรูปม้าในเครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นม้า 2 ตัวตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความให้แตกต่างกับเครื่องหมายการค้าพิพาทรูปม้าของโจทก์ได้อีกหลายแบบเพื่อแสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่จำเลยหาได้ทำไม่ การแก้ไขเพิ่มเติมรูปเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวส่อให้เห็นความไม่สุจริตของจำเลยที่เจตนาจะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่1849/2530 ของศาลแพ่ง ดังที่จำเลยฎีกา เมื่อฟังว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 163600 ของจำเลยเสียด้วย
พิพากษายืน