คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6951/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การเสียภาษีสรรพสามิตตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตนั้นต้องดูสภาพและลักษณะของรถยนต์เป็นสำคัญว่าเป็นรถยนต์นั่งหรือไม่มิใช่ถือเอาแชสซีส์ของรถยนต์เป็นสำคัญ เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนรถยนต์ของกลางเป็นรถยนต์ประเภทกระบะบรรทุก และเจ้าพนักงานสำนักงานขนส่งได้ตรวจสอบหลักฐานแล้วเห็นว่าถูกต้อง จำเลยที่ 1 จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ส่วนกรณีที่รถยนต์ของกลางได้มีผู้ดัดแปลงเป็นรถยนต์นั่งในเวลาต่อมานั้น โจทก์มิได้นำสืบให้ศาลเห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ดัดแปลงรถยนต์ของกลางให้มีสภาพเป็นรถยนต์นั่ง ลำพังแต่การกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้นำเข้าอะไหล่มาประกอบเป็นรถยนต์แล้วขายไป หาเพียงพอที่จะให้ จำเลยทั้งสองเสียภาษีสรรพสามิตตามฟ้องไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1, ที่ 2 กับพวกที่หลบหนีร่วมกันครอบครองรถยนต์ประเภทนั่งตรวจการณ์ส่วนบุคคลยี่ห้อโตโยต้า เซิฟ สีแดง โดยจำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ร่วมกันนำแชสซีส์และเครื่องยนต์ดังกล่าว ซึ่งนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผ่านศุลกากรถูกต้องแล้วมาผลิตเป็นรถยนต์คันดังกล่าวขึ้นโดยมิได้เสียภาษีสรรพสามิตและมิได้รับการยกเว้นใด ๆ ซึ่งภาษีสรรพสามิต และจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันขายรถยนต์คันดังกล่าวให้ผู้มีชื่อ ต่อมาจำเลยที่ 3 มีไว้ในครอบครองซึ่งรถยนต์คันดังกล่าว โดยจำเลยที่ 3 รู้ว่ารถยนต์นั้นเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีสรรพสามิต และมิได้รับการยกเว้นใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 161, 162

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1, ที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 161, 162ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าที่มิได้เสียภาษีลงโทษปรับคนละสามเท่าของค่าภาษีที่จะต้องเสียเป็นเงิน1,050,570 บาท ความผิดฐานขายสินค้าที่มิได้เสียภาษีลงโทษปรับคนละหกเท่าของค่าภาษีที่จะต้องเสียเป็นเงิน 2,101,140 บาท รวมลงโทษปรับคนละ 3,151,710 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องเสียภาษีสรรพสามิตประเภทรถยนต์นั่งตรวจการณ์ส่วนบุคคลตามฟ้องของโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาโต้แย้งว่า การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2เอาแชสซีส์ของรถยนต์โตโยต้า รุ่นเซิฟ มาประกอบเป็นรถยนต์ของกลางถือได้ว่าเป็นการประกอบรถยนต์นั่งตามฟ้อง แม้ประกอบเป็นรถยนต์กระบะก็ต้องเสียภาษีตามลักษณะของรถยนต์นั่ง ข้อนี้ เห็นว่าตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้ายพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534 ตามเอกสารหมาย จ.17 นั้น ได้ระบุไว้ว่ารถยนต์นั่ง หมายความว่า รถยนต์เก๋งหรือรถยนต์ที่ออกแบบสำหรับเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย และให้หมายความรวมถึงรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น รถยนต์ที่มีหลังคาติดต่อเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะถาวรด้านข้าง และหรือด้านหลังคนขับ มีประตู หรือหน้าต่างและมีที่นั่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีที่นั่งเท่าใด ส่วนรถยนต์กระบะ หมายความว่า รถยนต์ที่มีที่นั่งด้านหน้าตอนเดียวสำหรับคนขับ และตอนหลังเป็นกระบะบรรทุกซึ่งเปิดโล่งจนถึงท้ายรถโดยไม่มีหลังคาถ้อยคำที่ปรากฏตามตัวอักษรดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยแจ้งชัดว่าการเสียภาษีสรรพสามิตตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตนั้น ต้องดูสภาพและลักษณะของรถยนต์เป็นสำคัญว่าเป็นรถยนต์นั่งหรือไม่ มิใช่ถือเอาแชสซีส์ของรถยนต์เป็นสำคัญดังที่โจทก์ฎีกากล่าวอ้าง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนรถยนต์ของกลางเป็นรถยนต์ประเภทกระบะบรรทุกตามเอกสารหมาย จ.16 และเจ้าพนักงานสำนักงานขนส่งจังหวัดสมุทรสาครได้ตรวจสอบหลักฐานแล้วเห็นว่าถูกต้อง จึงอนุญาตให้จดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวได้ จำเลยที่ 1 ก็ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ส่วนกรณีที่รถยนต์ของกลางได้มีผู้ดัดแปลงเป็นรถยนต์นั่งในเวลาต่อมานั้น โจทก์มิได้นำสืบให้ศาลเห็นเลยว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ดัดแปลงรถยนต์ของกลางให้มีสภาพเป็นรถยนต์นั่งดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ลำพังแต่การกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้นำเข้าอะไหล่มาประกอบเป็นรถยนต์ แล้วขายไปหาเพียงพอที่จะให้จำเลยทั้งสองเสียภาษีสรรพสามิตตามฟ้องไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share