คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 บัญญัติว่า’บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปอาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ……ฯลฯ’ ซึ่งหมายความว่าต้องมีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีนั้น โดยถือหนี้อันเป็นมูลของคดีนั้นเป็นสารสำคัญ ฉะนั้นในกรณีทำละเมิดต่อโจทก์หลายคนร่วมกันแม้ค่าเสียหายของโจทก์แต่ละคนจะแยกต่างหากจากกันได้ ก็อาจเป็นโจทก์ร่วมกันในคดีเดียวกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 1 จ – 7538 โจทก์ที่ 2 เป็นพนักงานลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 2เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกพ่วงหมายเลขทะเบียน น.บ. 05340 และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2521 เวลาประมาณ 18.00 นาฬิกาโจทก์ที่ 2 ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวรับผู้โดยสารจากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดเชียงใหม่ตามถนนพหลโยธิน เมื่อถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 542 – 543 มีจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนน.บ. 05340 ของจำเลยที่ 2 ด้วยความเร็วสูง และด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังล้ำเข้ามาในเส้นทางเดินรถยนต์โดยสาร เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถยนต์โดยสารของโจทก์ที่ 1 เสียหายและโจทก์ที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนขับได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของจำเลยที่ 1ฝ่ายเดียว โจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าซ่อมรถยนต์โดยสารเป็นเงิน 169,900 บาทค่าขาดประโยชน์ระหว่างที่ซ่อมรถเป็นเวลา 137 วัน วันละ 1,000 บาทเป็นเงิน 137,000 บาท และค่าเสื่อมสภาพของรถเป็นเงิน 10,000 บาทโจทก์ที่ 2 ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาลรวม32 วัน ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นส่วนตัวเป็นเงิน 5,000 บาท ใบหน้าเสียโฉมติดตัวขอคิดเป็นเงิน 20,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ที่มิได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงในการปฏิบัติหน้าที่ขับรถเดือนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 12 เดือน เป็นเงิน42,000 บาท และขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้จากวันฟ้องไปเป็นเวลา 5 ปีรวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 ทั้งสิ้น 67,000 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 316,900 บาทให้แก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงิน67,000 บาทแก่โจทก์ที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ย

ศาลชั้นต้นสั่งฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ทั้งสองต่างฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนของตน มิได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีที่จะฟ้องรวมกันมา จึงไม่รับฟ้องของโจทก์ทั้งสอง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่ว่าโจทก์ทั้งสองจะฟ้องรวมกันมาในคดีได้หรือไม่นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 59 บัญญัติไว้ว่าบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปอาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้ โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ฯลฯ” ซึ่งหมายความว่าต้องมีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีนั้น โดยถือหนี้อันเป็นมูลของคดีนั้นเป็นสารสำคัญ คือมูลกรณีเป็นเรื่องละเมิดร่วมกัน แม้ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองจะแยกต่างหากจากกันได้ก็ตาม โจทก์ทั้งสองก็อาจเป็นโจทก์ร่วมกันในคดีเดียวกันได้ จากเหตุผลดังกล่าวโจทก์ทั้งสองจึงฟ้องรวมกันมาในคดีนี้ด้วยกันได้

พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองไว้พิจารณาต่อไป

Share