แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ.มาตรา 1105 นั้นใช้บังคับตลอดถึงการออกหุ้นโดยเพิ่มทุนของบริษัทด้วย ไม่ใช่ใช้สำหรับในการตั้งบริษัทใหม่เท่านั้น ฉะนั้นการที่บริษัทจะออกหุ้นในการเพิ่มทุน ให้มีราคาสูกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้จะต้องอาศัยหนังสือบริคนห์สนธิของบริษัทได้ให้อำนาจไว้ จึงจะเป็นการถูกต้องตามข้อบัญญัติของมาตรา 1105 วรรค 2
ที่ประชุมใหญ่ของบริษัทลงมติพิเศษให้ออกหุ้นที่เพิ่มขึ้นโดยเรียกเงินให้เปล่าหรือพรีเมียมอีกส่วนหนึ่ง หุ้นละ 50 บาท รวมกับมูลค่าของหุ้น 100 บาท เป็น 150 บาทนั้น เรียกว่าเป็นารออกหุ้นราคาสูงกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้ เป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 1105 วรรค 2 และเป็นมติอันผิดระเบียบซึ่งจะถูกศาลเพิกถอนได้ตามมาตรา 1195.
มติของที่ประชุมใหญ่ของบริษัทอันจะถือได้ว่าเป็นการแก้ไข หนังสือบริคนห์สนธิของบริษัทได้นั้น จะต้องปฏิบัติตามวิธีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1194 ให้ครบถ้วน.
ที่ประชุมใหญ่ของบริษัทลงมติให้เพิ่มทุนและอนุญาตให้ออกหุ้นราคาสูงกว่ามูลค่าได้ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1105 วรรค 2 ผู้ถือหุ้นได้คัดค้านว่าไม่ควรขายหุ้นราคาสูงกว่ามูลค่าในใบหุ้น แต่ต่อมาผู้ถือหุ้นคนนั้น ได้ตอบรับซึ้อหุ้นที่ออกใหม่ตามมติประชุมในคราวนั้น ไม่เป็นเหตุ+ถือหุ้นในการที่จะนำคดีมาฟ้อง+ ให้เพิกถอนมติอันผิดระเบียบนั้น มาตรา 1195.
ย่อยาว
บริษัทปูนซีเมนต์ไทยจำกัด จำเลยได้ลงมติในที่ประชุมใหญ่ เรื่องนัดประชุมเพิ่มทุนว่าให้เพิ่มฐานอีก ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยออกหุ้นใหม่อีก ๖๐,๐๐๐ หุ้น ๆ ละ ๑๐๐ บาท แต่ที่ประชุมลงมติให้จำหน่ายหุ้นละ ๑๕๐ บาท ราคาในใบหุ้นยังคงลงเพียงหุ้นละ ๑๐๐ บาท ส่วนที่ล้ำมูลค่าไป ๕๐ บาทนั้น ให้ถือว่าเป็นเงินกินเปล่าหรือเงินพรีเมียม ตกได้แก่บริษัท โจทก์ได้คัดค้านในที่ประชุมว่า ไม่ควรขายหุ้นล้ำกว่ามูลค่าในใบหุ้น แต่ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือตอบบริษัทในแบบฟอร์มของบริษัทแสดงความจำนงค์รับซื้อหุ้นตามส่วน และส่งเงินค่าหุ้นพร้อมทั้งเงินให้เปล่า แต่สุดท้ายลงข้อความว่า “ข้าพเจ้าส่งเงินค่าพรีเมียมมาด้วย สงวนคำคัดค้านและโต้แย้งที่จะว่ากล่าวกับบริษัทต่อไปตามกฎหมาย” แล้วโจทก์นำคดีมาฟ้อง ขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมบริษัท โดยอ้างว่าฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๐๕.
จำเลยต่อสู้ว่า แม้โจทก์จะได้คัดค้านในที่ประชุมนั้นก็ด้วยยกเหตุอื่น ไม่เคยอ้าง พ.พ.พ.มาตรา ๑๑๐๕ เลย โจทก์มิได้เสียหาย และยังรับเข้าชื่อซื้อหุ้นตามส่วน แสดงว่าได้ยินยอมรับรองมติที่ประชุมบริษัทแล้ว จะมาฟ้องขอเพิกถอนในบัดนี้ไม่ได้ และทั้งอ้างว่ามาตรา ๑๑๐๕ ใช้สำหรับการตั้งบริษัทใหม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการออกหุ้นเพิ่มทุนภายหลัง และในที่สุดอ้างว่า มติที่ประชุมใหญ่มีอำนาจอนุญาตได้
ศาลชั้นต้นเห็นว่าที่ประชุมใหญ่ลงมติพิเศษให้เพิ่มทุนและอนุญาตให้ออกหุ้นราคาสูงกว่ามูลค่าได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคนสนธิในเรื่องทุนอยู่ในตัว ไม่เป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ. จึงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มติที่ประชุมเป็นการ่าฝืน พ.ร.บ.มาตรา ๑๑๐๕ วรรค ๒ จึงพิพากษากลับให้เพิกถอนมติของที่ประชุมบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์มิได้ยกข้อ ก.ม.ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องขึ้นคัดค้านในที่ประชุมถือหุ้น และการที่โจทก์ตอบรับซื้อหุ้นที่ออกใหม่ตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นในคราวนั้น ไม่เป็นเหตุตัดสิทธิโจทก์ในการที่จะนำคดีมาฟ้องศาล และเห็นว่า ป.พ.พ.มาตรา ๑๑๐๕ นั้นใช้บังคับตลอดถึงการออกหุ้น โดยเพิ่มทุนของบริษัทด้วย ด้งนั้นการที่บริษัทจะออกหุ้นในการที่เพิ่มทุนให้มีราคาสูงกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้ จะต้องอาศัยหนังสือบริคนห์สนธิของบริษัทได้ให้อำนาจไว้ แต่คดีนี้หนังสือบริคนห์สนธิของบริษัทจำเลย หาได้ให้อำนาจไว้ มติของที่ประชุมบริษัทให้ออกหุ้นเพิ่มขึ้นโดยเรียกเงินให้เปล่าหรือพรีเมียมอีก ส่วนหนึ่งหุ้นละ ๕๐ บาท จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๐๕ วรรค ๒ ซึ่งจะถูกศาลเพิกถอนได้ตามความในมาตรา ๑๑๙๕
ข้อที่จำเลยกล่าวว่ามติพิเศษในที่ประชุมใหญ่เป็นการแก้ไขหนังสือบริคนห์สนธิของบริษัทไปในตัวนั้น ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะการเรียกประชุมใหญ่คราวนั้นเป็นเรื่องประชุมเพื่อลงมติในเรื่องเพิ่มทุน ไม่ใช่เรื่องแก้ไขหนังสือบริคนห์สนธิ.
จึงพิพากษายืน