คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6943/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 9) ได้กำหนดบำเหน็จไว้ในหมวด 4 การสงเคราะห์เมื่อออกจากงาน ข้อ 10 ว่าพนักงานซึ่งได้ทำงานในองค์การมานับอายุงานได้สิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป เมื่อออกจากงานเพราะตายหรือเพราะเหตุอื่นให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ผู้นั้นได้ทำงานในองค์การ การกำหนดดังกล่าวใช้กับพนักงานที่ออกจากงานเพราะตายหรือเพราะเหตุอื่นที่มิใช่เหตุตามข้อ 15 ซึ่งระบุว่า พนักงานไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยงชีพหรือบำเหน็จถ้าถูกออกจากงานเพราะกระทำความผิดดังต่อไปนี้ 15.1 กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ 15.2 กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งขององค์การอันเป็นเหตุให้องค์การได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง…15.6 ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจวัตถุประสงค์ในการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์แก่ประชาชนโดยทั่วไป โจทก์ได้รับมอบหมายให้ทำงานอยู่ในห้องศูนย์บริการลูกค้าของจำเลย ได้รับโทรศัพท์ว่าจ้างงานจากบริษัท บ. แล้ว โจทก์มิได้ส่งงานต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบของจำเลย แต่กลับส่งงานที่รับไว้ดังกล่าวให้สหกรณ์เครือกระจายสินค้าและพัสดุภัณฑ์ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจการค้าเช่นเดียวกับจำเลยซึ่งโจทก์เป็นสมาชิกผู้ถือหุ้นและต่อมาในปี 2545 ได้เข้าเป็นกรรมการในคณะกรรมการดำเนินการและมีประโยชน์เกี่ยวข้องรับงานนั้นไปทำ ทั้งที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยมีหน้าที่ต้องสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และจำเลยมีหน้าที่ปฏิบัติงานให้เกิดผลดีและควมเจริญก้าวหน้าแก่จำเลย จำเลยมีรายได้หลักจากค่าจ้างในการรับขนส่งเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่าจ้าง และสวัสดิการแก่พนักงานทุกคน จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานทุกคนจะต้องรักษาประโยชน์ของจำเลยหากได้รับการติดต่อจากลูกค้าที่ว่าจ้างให้ทำการขนส่ง จะต้องแจ้งหรือส่งงานให้หน่วยงานของจำเลยที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรับผิดชอบต่อไป แต่โจทก์กลับลักลอบเอางานของจำเลยจากสำนักงานของจำเลยไปให้นิติบุคคลอื่น จึงเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการดำเนินงานของจำเลยอย่างร้ายแรง ส่งผลให้จำเลยขาดประโยชน์จากการดำเนินงานหลัก และลูกค้าผู้ติดต่อจำเลยอาจเข้าใจและเชื่อว่าเป็นการรับขนส่งของจำเลย จำเลยมีโอกาสได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงในด้านการให้การบริการได้ และโจทก์ทำงานประจำห้องศูนย์บริการลูกค้าของจำเลย มีโอกาสที่จะรับการติดต่อจากลูกค้าที่โทรศัพท์เข้ามาว่าจ้างใช้บริการของจำเลยได้ตลอดเวลาทุกวัน การลักลอบเอางานของจำเลยไปให้ผู้อื่นทำย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายขาดรายได้จากการขนส่งรายนั้นๆ หากมีลูกจ้างเช่นโจทก์ในนิติบุคคลใดย่อมส่งผลให้การประกอบกิจการของนิติบุคคลนั้นประสบปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายถึงกิจการล่มได้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรงต่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 9) ข้อ 15.1 และข้อ 15.6 และตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุว่าด้วยวินัยพนักงาน พ.ศ.2512 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2) ข้อ 15 วรรคสาม ระบุ “ห้ามมิให้พนักงานเป็นตัวแทนหรือกระทำการในนามนิติบุคคลอื่น อันมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจการค้าอย่างเดียวกับองค์การ หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดกับผลประโยชน์ขององค์การ ทั้งนี้ ไม่ว่ากระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง” ดังนั้น เมื่อโจทก์กระทำการซึ่งขัดกับผลประโยชน์ของจำเลยจึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับดังกล่าว และส่งผลให้จำเลยขาดประโยชน์และมีผลกระทบต่อชื่อเสียงของจำเลยดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น โจทก์จึงกระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งขององค์การเป็นเหตุให้องค์การได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 9) ข้อ 15.2 ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 9) ข้อ 15 นี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 85,440 บาท บำเหน็จ 427,200 บาท ค่าจ้างค้าง 9,025 บาท ค่าเช่าบ้าน 10,400 บาท ค่ารักษาพยาบาล 1,500 บาท และจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 455,680 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านจำนวน 9,600 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 8,838.62 บาท และค่ารักษาพยาบาล จำนวน 1,489 บาท
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายบำเหน็จ 427,200 บาท ค่าจ้างค้าง 8,838.62 บาท ค่าเช่าบ้าน 9,600 บาท และค่ารักษาพยาบาล 1,489 บาท ให้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทองค์กรของรัฐบาล จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พ.ศ.2491 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม มีวัตถุประสงค์ในการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป มีข้อบังคับองค์การจำเลยว่าด้วยวินัยพนักงาน พ.ศ.2521 และข้อบังคับองค์การจำเลยว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 และระเบียบองค์การจำเลยว่าด้วยค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ค่าชดเชย และค่าตอบแทนความชอบในการทำงาน พ.ศ.2534 โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่ปี 2517 ครั้งสุดท้ายดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกประจำกองการเจ้าหน้าที่และช่วยปฏิบัติงานที่แผนกรับส่งสินค้าตามที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งมอบหมาย ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน อัตราสุดท้ายเดือนละ 14,240 บาท ต่อมาปี 2544 โจทก์เป็นสมาชิกของสหกรณ์เครือกระจายสินค้าและพัสดุภัณฑ์ จำกัด ซึ่งสหกรณ์ดังกล่าวเป็นสหกรณ์ประเภทสหกรณ์บริการมีวัตถุประสงค์ในการจัดการขนส่งหรือประกอบการขนส่งหรือส่งเสริมให้สมาชิกประกอบการขนส่งสินค้า พัสดุภัณฑ์ และไปรษณีย์ เช่นเดียวกับจำเลย ต่อมาโจทก์ได้เข้าเป็นกรรมการในคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ โดยได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2544 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2545 ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2545 บริษัทแอสโทรแม๊กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ประเทศไทย) ได้โทรศัพท์ติดต่อมายังจำเลยที่ห้องศูนย์บริการลูกค้าว่าจ้างให้จำเลยขนย้ายเครื่องใช้สำนักงานของบริษัทจากสำนักงานบริษัทในกรุงเพทมหานครไปยังจังหวัดนราธิวาส โจทก์ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานในห้องศูนย์บริการลูกค้าเพื่อคอยรับโทรศัพท์ที่ลูกค้าติดต่อมาใช้บริการของจำเลยได้รับงานขนส่งดังกล่าวจากบริษัทแอสโทรแม็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ประเทศไทย) แล้วโจทก์มิได้ส่งงานต่อให้หน่วยงานของจำเลยที่รับผิดชอบในด้านรับจ้างขนส่งเหมาแบบทั้งคันดูแลรับผิดชอบต่อไป แต่โจทก์กลับส่งงานที่รับไว้ให้สหกรณ์เครือกระจายสินค้าและพัสดุภัณฑ์ จำกัด รับงานขนส่งดังกล่าวไปทำ และกำหนดนัดหมายจะจัดรถบรรทุกไปขนส่งในวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2545 ครั้นถึงกำหนดเวลานัด สหกรณ์เครือกระจายสินค้าและพัสดุภัณฑ์ จำกัด มิได้จัดรถยนต์ไปบรรทุกขนส่งให้ ทำให้บริษัทแอสโทรแม็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ประเทศไทย) ที่จังหวัดนราธิวาสได้รับความเสียหายจากการรอรับเครื่องใช้สำนักงานและไม่สามารถเปิดสำนักงานใหม่ได้ตามกำหนด จึงโทรศัพท์มายังจำเลยร้องเรียนถึงความเสียหายดังกล่าว จำเลยจึงได้แก้ปัญหาโดยรีบจัดการขนส่งเครื่องใช้สำนักงานให้บริษัทดังกล่าวในวันที่ 19 มีนาคม 2545 และได้มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และต่อมามีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ ผลการสอบสวนมีความเห็นว่า โจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยจึงลงโทษโจทก์โดยการเลิกจ้างฐานประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรงแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์กระทำผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ว่าด้วยวินัยพนักงาน พ.ศ.2521 ข้อ 15 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแต่โจทก์ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่และไม่ถือว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 ข้อ 15 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 9) ได้กำหนดบำเหน็จไว้ในหมวด 4 การสงเคราะห์เมื่อออกจากงาน ข้อ 10 ว่าพนักงานซึ่งได้ทำงานในองค์การมานับอายุงานได้สิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป เมื่อออกจากงานเพราะตายหรือเพราะเหตุอื่น ให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ผู้นั้นได้ทำงานในองค์การ การกำหนดดังกล่าวใช้กับพนักงานที่ออกจากงานเพราะตายหรือเพราะเหตุอื่นที่มิใช่เหตุตามข้อ 15 ซึ่งระบุว่า พนักงานไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยงชีพหรือบำเหน็จถ้าถูกออกจากงานเพราะกระทำความผิดดังต่อไปนี้ 15.1 กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ 15.2 กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งขององค์การอันเป็นเหตุให้องค์การได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง… 15.6 ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์ในการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์แก่ประชาชนโดยทั่วไป โจทก์ได้รับมอบหมายให้ทำงานอยู่ในห้องศูนย์บริการลูกค้าของจำเลย ได้รับโทรศัพท์ว่าจ้างงานจากบริษัทแอสโทรแม็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ประเทศไทย) แล้วโจทก์มิได้ส่งงานต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบของจำเลย แต่กลับส่งงานที่รับไว้ดังกล่าวให้สหกรณ์เครือกระจายสินค้าและพัสดุภัณฑ์ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจการค้าเช่นเดียวกับจำเลยซึ่งโจทก์เป็นสมาชิกผู้ถือหุ้นและต่อมาในปี 2545 ได้เข้าเป็นกรรมการในคณะกรรมการดำเนินการและมีประโยชน์เกี่ยวข้องรับงานนั้นไปทำทั้งที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยมีหน้าที่ต้องสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและจำเลยมีหน้าที่ปฏิบัติงานให้เกิดผลดีและความเจริญก้าวหน้าแก่จำเลย จำเลยมีรายได้หลักจากค่าจ้างในการรับขนส่งเพื่อนำมาเป็นค่าใช่จ่ายสำนักงาน ค่าจ้าง และสวัสดิการแก่พนักงานทุกคน จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานจำเลยทุกคนจะต้องรักษาประโยชน์ของจำเลยหากได้รับการติดต่อจากลูกค้าที่ว่าจ้างให้ทำการขนส่ง จะต้องแจ้งหรือส่งงานให้หน่วยงานของจำเลยที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรับผิดชอบต่อไป แต่โจทก์กลับลักลอบเอางานของจำเลยจากสำนักงานของจำเลยไปให้นิติบุคคอื่น จึงเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการดำเนินงานของจำเลยอย่างร้ายแรง ส่งผลให้จำเลยขาดประโยชน์จากการดำเนินงานหลัก และลูกค้าผู้ติดต่อจำเลยอาจเข้าใจและเชื่อว่าเป็นการรับขนส่งของจำเลย จำเลยมีโอกาสได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงในด้านการให้การบริการได้ และโจทก์ทำงานประจำห้องศูนย์บริการลูกค้าของจำเลย มีโอกาสที่จะรับการติดต่อจากลูกค้าที่โทรศัพท์เข้ามาว่าจ้างใช้บริการของจำเลยได้ตลอดเวลาทุกวัน การลักลอบเอางานของจำเลยไปให้ผู้อื่นทำย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายขาดรายได้จากการขนส่งรายนั้นๆ หากมีลูกจ้างเช่นโจทก์ในนิติบุคคลใดย่อมส่งผลให้การประกอบกิจการของนิติบุคคลนั้นประสบปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายถึงกิจการล่มได้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรงต่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 9) ข้อ 15.1 และข้อ 15.6 และตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุว่าด้วยวินัยพนักงาน พ.ศ.2521 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2) ข้อ 15 วรรคสาม ระบุ “ห้ามมิให้พนักงานเป็นตัวแทนหรือกระทำการในนามนิติบุคคลอื่น อันมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจการค้าอย่างเดียวกับองค์การ หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดกับผลประโยชน์ขององค์การ ทั้งนี้ ไม่ว่ากระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง” ดังนั้น เมื่อโจทก์กระทำการซึ่งขัดกับผลประโยชน์ของจำเลยจึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับดังกล่าว และส่งผลให้จำเลยขาดประโยชน์และมีผลกระทบต่อชื่อเสียงจองจำเลยดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น โจทก์จึงกระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งขององค์การเป็นเหตุให้องค์การได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 9) ข้อ 15.2 ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ว่าด้วยการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2519 (ฉบับประมวลแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 9) ข้อ 15 นี้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายบำเหน็จแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share