คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีนายอำเภอท้องที่ที่โจทก์ตั้งอยู่เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง มีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของโจทก์ตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495ประธานกรรมการโจทก์จึงเป็นผู้แทนโจทก์ตามกฎหมาย อายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรกเริ่มนับตั้งแต่วันที่ประธานกรรมการโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน มิใช่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำละเมิด ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ให้การว่า มิได้ทำละเมิดและคดีขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีขาดอายุความไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่น พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองกับพวกฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและยักยอกเงินของโจทก์ไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2525 และผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้แต่งตั้งคณะกรรมการหาตัวผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับเงินของโจทก์ที่ขาดหายไปนี้ คณะกรรมการได้ทำบันทึกเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีว่าจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีลงลายมือชื่อรับทราบเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2525 และได้มีหนังสือลงวันที่ 11 สิงหาคม 2525 แจ้งให้ประธานโจทก์ทราบ เห็นว่าคดีนี้โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีนายอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานีซึ่งอยู่ในเขตท้องที่ที่โจทก์ตั้งอยู่ เป็นประธานกรรมการโจทก์โดยตำแหน่งมีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของโจทก์ตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 ประธานกรรมการโจทก์จึงเป็นผู้แทนของโจทก์ตามกฎหมาย ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคแรก กำหนดให้ฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน มิฉะนั้นคดีขาดอายุความนั้นในกรณีนี้ต้องถือว่าผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นคือประธานกรรมการโจทก์รู้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 เมื่อไม่ปรากฏว่าประธานกรรมการโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่ 11 สิงหาคม 2525 อันเป็นวันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีมีหนังสือแจ้งไปถึงประธานกรรมการโจทก์ว่าจำเลยที่ 1จะต้องร่วมรับผิดในเงินที่จำเลยที่ 2 ยักยอกเงินของโจทก์ไปด้วยนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 17 มีนาคม 2526 ยังไม่พ้นหนึ่งปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเถียงว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์ตั้งสิทธิเรียกร้องโดยอาศัยมูลเหตุจากคดีอาญา เป็นการใช้สิทธิติดตามเอาเงินคืน แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงประมาทเลินเล่อซึ่งโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิด โจทก์จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินคืนหาได้ไม่นั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share