แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยและ อ.กระทำกิจการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันจากรถยนต์แท็กซี่คันเกิดเหตุ อ.จึงเป็นตัวแทนของจำเลยและจำเลยจะต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของ อ.ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์รับประกันภัยและได้รับประกันความเสียหายของรถยนต์เก๋งโตโยต้าโคโรลล่า คันหมายเลขทะเบียน ๕ง – ๓๔๗๖ กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายมาโนช จารุประวิทย์ จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์แท๊กซี่คันหมายเลขทะเบียน ๑ท – ๘๙๑๗ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๔ เวลาประมาณ ๖ นาฬิกา นายอุดม หุ้ยกระบวน ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลย ขับรถยนต์แท๊กซี่คันหมายเลขทะเบียน ๑ท – ๘๙๑๗ ไปในทางการที่จ้างหรือทำแทนจำเลยด้วยความประมาท โดยขับตัดหน้ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๕ง – ๓๔๗๖ กรุงเทพมหานคร ซึ่งนายมาโนช ขับ ในระยะกระชั้นชิด รถยนต์คันนี้จึงชนรถยนต์แท๊กซี่แล้วเสียหลักพุ่งขึ้นไปชนกระถางต้นไม้บนทางเท้าและแฉลบไปชนประตูบ้านผู้อื่นเสียหาย รถยนต์เก๋งดังกล่าวเสียหายต้องซ่อมสิ้นเงิน ๔๘,๘๘๕ บาท โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยจึงจ่ายเงินค่าซ่อมรถยนต์ไปเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๔ แล้วรับช่วงสิทธิและทวงถามให้จำเลยรับผิด จำเลยเพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๔ ถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๒,๔๔๔ บาท รวมทั้งสิ้น ๕๑,๓๒๙ บาท ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหาย ๕๑,๓๒๙ บาทแก่โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๔๘,๘๘๕ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์แท๊กซี่ตามฟ้อง แต่วันเกิดเหตุจำเลยมิได้ครอบครองรถเพราะได้ให้นายอุดม หุ้ยกระบวนเช่าไป นายอุดม หุ้ยกระบวน จึงมิใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลย เหตุเกิดเพราะความประมาทของนายมาโนช ที่ขับด้วยความเร็วสูง ไม่ระมัดระวัง โจทก์ยังมิได้จ่ายค่าซ่อมรถยนต์ให้เจ้าของรถ จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลย ค่าเสียหายไม่เกิน ๔,๐๐๐ บาท ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยทวงถามจึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง นายมาโนช จารุประวิทย์ เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๕ง – ๓๔๗๖ กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ นายอุดม หุ้ยกระบวน เป็นตัวแทนของจำเลยขณะเกิดเหตุ และเป็นผู้กระทำละเมิด พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๓๘,๒๓๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๒,๔๔๔ บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายอุดม หุ้ยกระบวน มิใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลย พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความไม่โต้แย้งว่า นายมาโนช จารุประวิทย์ นำรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน ๕ง – ๓๔๗๖ กรุงเทพมหานคร มาประกันภัยไว้กับโจทก์ จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์แท๊กซี่คันหมายเลขทะเบียน ๑ท – ๘๙๑๗ กรุงเทพมหานคร วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๔ นายมาโนชขับรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวชนกับรถยนต์แท๊กซี่ของจำเลยคันดังกล่าวซึ่งมีนายอุดม หุ้ยกระบวน เป็นผู้ขับ โดยนายอุดมขับรถยนต์แท๊กซี่ด้วยความประมาททำให้รถของนายมาโนชได้รับความเสียหาย โจทก์ได้จ่ายเงินค่าซ่อมรถยนต์เก๋งของนายมาโนชไปแล้ว ปัญหาในชั้นนี้มีเพียงข้อเดียวว่า ขณะเกิดเหตุนายอุดมเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยหรือไม่ โจทก์มีนายประทีป แซ่ตั้ง ซึ่งทำงานในตำแหน่งพนักงานตรวจสอบเกี่ยวกับอุบัติเหตุรถที่เอาประกันไว้กับโจทก์มาเบิกความว่า รถยนต์แท๊กซี่ที่นายอุดมขับมีชื่อบริษัทจำเลยติดอยู่ข้างรถ สำหรับนายสมชัย พิพิธสุขสันต์ กรรมการผู้จัดการของจำเลยนั้นแม้จะเบิกความว่ารถยนต์แท๊กซี่คันเกิดเหตุไม่มีเครื่องหมายของบริษัทจำเลยติดอยู่ที่ตัวรถ แต่ก็ยอมรับว่าสีรถยนต์รับจ้างสาธารณะของจำเลยมีสีฟ้า – ส้ม เมื่อคนอื่นเห็นรถยนต์รับจ้างสาธารณะสีฟ้า – ส้ม ก็จะต้องเข้าใจว่าเป็นรถยนต์ของจำเลย ทุกวันนี้รถของบริษัทจำเลยก็ยังใช้สีฟ้า – ส้ม นอกจากนี้นายวรรณดี มังกรเสถียร พยานจำเลยอีกปากหนึ่งก็เบิกความว่าก่อนปี ๒๕๒๕ มีป้ายชื่อบริษัทจำเลยติดอยู่ที่ข้างรถรับจ้างสาธารณะบ้าง คดีนี้เหตุเกิดในปี ๒๕๒๔ จึงน่าเชื่อว่ารถแท๊กซี่คันเกิดเหตุของจำเลยมีสีฟ้า – ส้ม และมีชื่อบริษัทจำเลยติดอยู่ข้างรถ ดังนั้นคนทั่วไปที่ได้พบเห็นรถแท๊กซี่คันเกิดเหตุจะต้องเข้าใจว่าเป็นรถของจำเลยสำหรับหนังสือสัญญาเช่ารถยนต์หมาย ล.๑ ซึ่งระบุว่านายอุดมเช่ารถคันนี้จากจำเลยนั้น ก็ปรากฏว่าสัญญาเช่าดังกล่าวไม่ระบุเวลาการเช่าซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัย ทั้งยังระบุค่าเช่าเพียงวันละ ๑๐๐ บาท ซึ่งเป็นค่าเช่าที่ต่ำเกินไปจนไม่น่าเชื่อถือ จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการเช่ากันจริง ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าจำเลยและนายอุดมกระทำกิจการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันจากรถยนต์แท๊กซี่คันเกิดเหตุ นายอุดมจึงเป็นตัวแทนของจำเลยและจำเลยต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของนายอุดมตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๗ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น