คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6939/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้โดยสิ้นเชิง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากเรือพิพาท แต่จำเลยที่ 1 กลับตกลงโอนเรือดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อีกรายหนึ่งของตนไป โดยจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วในขณะรับโอนว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ นิติกรรมการโอนเรือพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ อันเป็นการฉ้อฉลซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนได้
โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนเรือระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ เพราะมิใช่เป็นการฟ้องขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมของศาลในคดีที่พิพาทกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หากแต่เป็นการฟ้องเพื่อแสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาตามยอมของศาลดังกล่าวไม่ผูกพัน และไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาของศาลในอีกคดีหนึ่ง
ระยะเวลาจากวันที่จำเลยที่ 2 รับโอนเรือและโจทก์ทราบเรื่องจนถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล ยังไม่พ้นกำหนด1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สมยอมกันทำสัญญาซื้อขายและโอนเรือไฮโดรฟอยล์ “เทพศิรินทร์ 1” อันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นพอที่โจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้ ขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์เรือไฮโดรฟอยล์ “เทพศิรินทร์ 1” ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งได้กระทำณ กรมเจ้าท่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2535 โดยให้กรรมสิทธิ์ในเรือดังกล่าวกลับคืนมาเป็นของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ผู้ใดบ้างจำเลยที่ 2 ซื้อเรือ “เทพศิรินทร์ 1” จากจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ยอมจดทะเบียนโอนให้จำเลยที่ 2 ได้ฟ้องคดีต่อศาล คดียุติด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 จึงโอนเรือดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์ฟ้องคดีภายหลัง 1 ปี นับแต่รู้ถึงการโอนเรือพิพาทแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์เรือไฮโดรฟอยล์ “เทพศิรินทร์ 1″ระหว่างจำเลยทั้งสอง ซึ่งได้กระทำเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2535 โดยให้กรรมสิทธิ์ในเรือดังกล่าวกลับคืนมาเป็นของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ซื้อเรือไฮโดรฟอยล์มาจากประเทศรัสเซีย ราคา 15,834,000 บาท และได้ยื่นขอจดทะเบียนเป็นเรือใหม่ต่อกรมเจ้าท่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2532 ชื่อว่า “เทพศิรินทร์ 1” รายละเอียดปรากฏตามสำเนาใบสำคัญรับรองการตรวจเรือท้ายเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์2534 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับมูลหนี้ที่เกิดจากสัญญาว่าจ้างขนส่งเรือดังกล่าวให้ชำระหนี้เป็นจำนวนเงิน 24,005,833 บาท คดีตกลงกันได้โดยจำเลยที่ 1 ยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 4,200,000 บาท ภายใน 5 เดือนรายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 1814/2535 ก่อนโจทก์และจำเลยที่ 1 จะตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1โอน ขาย หรือจำหน่ายเรือ “เทพศิรินทร์ 1” ตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ และเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2533 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายเรือ “เทพศิรินทร์ 1” ในราคา 1,000,000 บาท โดยกำหนดส่งมอบเรือในวันเดียวกัน ตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.3 ครั้นวันที่ 28 มิถุนายน 2534 จำเลยที่ 2 ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบเรือ “เทพศิรินทร์ 1” คดีตกลงกันได้โดยจำเลยที่ 1 ยอมชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 1,400,000 บาท ภายในวันที่ 20 มกราคม 2535 หากผิดนัด จำเลยที่ 1 ยอมโอนเรือ “เทพศิรินทร์ 1” ให้แก่จำเลยที่ 2 รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 21229/2534 ของศาลชั้นต้น เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 2 จึงได้ขอหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดเรือ “เทพศิรินทร์ 1” จากจำเลยที่ 1 แล้วไปจดทะเบียนโอนที่กรมเจ้าท่าเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 ตามคำสั่งที่พิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายเรือ “เทพศิรินทร์ 1” ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประการแรกว่า จำเลยที่ 1 โอนขายเรือ “เทพศิรินทร์ 1” ให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 รู้หรือไม่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และไม่มีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้ให้โจทก์อันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบและโจทก์ขอเพิกถอนการโอนได้หรือไม่… ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโอนเรือ “เทพศิรินทร์ 1″จากจำเลยที่ 1 โดยรู้ถึงข้อความจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ขณะทำการรับโอนเรือ”เทพศิรินทร์ 1” และจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้โดยสิ้นเชิง แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นลูกหนี้คนอื่นอีกก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้นอกจากเรือ “เทพศิรินทร์ 1” แล้ว การที่จำเลยที่ 2 รับโอนเรือ “เทพศิรินทร์ 1” จากจำเลยที่ 1 ไว้ จึงเป็นการทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินที่จะใช้หนี้โจทก์อันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ กรณีเช่นนี้โจทก์จึงมีอำนาจที่จะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนรายนี้อันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการยึดเรือ “เทพศิรินทร์ 1” ส่งมอบแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ก็ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นไปตามผลของคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 21229/2534 แล้ว การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนเรือ “เทพศิรินทร์ 1″ ระหว่างจำเลยทั้งสอง เท่ากับเป็นการฟ้องขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 21229/2534 ของศาลชั้นต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นบุคคลภายนอกแม้จะฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมที่จำเลยทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 21229/2534 ของศาลชั้นต้นที่ถึงที่สุดแล้วไม่ได้แต่สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 21229/2534 ของศาลชั้นต้นก็ไม่ผูกพันโจทก์ และตามฟ้องของโจทก์เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ศาลแสดงว่าคำพิพากษาตามยอมนั้นบังคับโจทก์ไม่ได้และไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 1814/2535 ของศาลชั้นต้น ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนเรือระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงหาใช่เป็นการฟ้องขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 21229/2534 ของศาลชั้นต้นไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาประการสุดท้ายที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่…เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์ภายในกำหนด 5 เดือนนับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้นจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ก็ต้องล่วงพ้นเวลา 5 เดือน นับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2535จึงเป็นประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2535 การที่นายพิเชษฐ์ทนายโจทก์ไปตรวจสอบในเดือนสิงหาคม 2535 จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่าเพิ่งทราบในเดือนสิงหาคม 2535 ว่าได้มีการโอนเรือไปให้จำเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 17 มีนาคม 2536 ซึ่งหากนับจากวันที่จำเลยที่ 2 รับโอนเรือและโจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกันที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share