แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยทั้งสองตกลงจะคืนเงินมัดจำให้โจทก์เมื่อจำเลยทั้งสองขายที่ดินได้นั้น จำเลยทั้งสองจะขายที่ดินได้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ความพอใจหรือสมัครใจของจำเลยทั้งสองแต่ฝ่ายเดียว แต่ขึ้นอยู่กับบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้จะซื้อด้วยว่ามีความพอใจหรือไม่พอใจจะซื้อตามข้อเสนอของจำเลยทั้งสองหรือไม่เงื่อนไขบังคับก่อนดังกล่าวจึงไม่ใช่เงื่อนไขอันจะสำเร็จได้หรือไม่สุดแล้วแต่ใจของฝ่ายลูกหนี้จึงไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 190 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญารับสภาพหนี้ชั้นชี้สองสถาน ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เป็นบันทึกการรับสภาพหนี้หรือไม่ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามบันทึกดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า แม้ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ จำเลยทั้งสองก็จะต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์เพราะคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญาโดยไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา คู่สัญญาย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิมนั้น จึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับพวกรวม 4 คน ร่วมกันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจากจำเลยทั้งสอง วางเงินมัดจำให้จำเลยที่ 1ริบไปครบถ้วนแล้วเป็นเงิน 800,000 บาท ต่อมาโจทก์กับพวกดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกัน จำเลยทั้งสองตกลงคืนเงินมัดจำให้โจทก์กับพวกและร่วมกันทำบันทึกว่าจะคืนเงินมัดจำจำนวน 200,000 บาท ให้โจทก์เมื่อขายที่ดินแปลงดังกล่าวได้แล้วแต่จำเลยทั้งสองผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน268,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน200,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์และพวกจริง แต่โจทก์กับพวกผิดสัญญาไม่ชำระหนี้งวดที่สอง ฝ่ายจำเลยจึงบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและริบเงินมัดจำจำนวน 800,000 บาท โจทก์กับพวกไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจำเลยทั้งสองไม่เคยรับสภาพหนี้ว่าจะคืนเงินมัดจำ จำนวน 200,000 บาทให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับพวกไม่ได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 แต่โจทก์กับพวกเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระเงินที่ค้างชำระ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องคืนเงินมัดจำตามบันทึกข้อตกลงเอกสารท้ายฟ้องหมาย 2 ปรากฏข้อความอย่างชัดแจ้งว่าเมื่อขายที่ดินดังกล่าวได้อันเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ดังนั้นข้อตกลงตามบันทึกย่อมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขได้สำเร็จแล้ว ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาล ที่ดินดังกล่าวยังขายไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 190บัญญัติว่า “นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อนและเป็นเงื่อนไขอันจะสำเร็จได้หรือไม่ สุดแล้วแต่ใจของฝ่ายลูกหนี้ นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ”กฎหมายมาตรานี้หมายความว่า เงื่อนไขบังคับก่อนซึ่งจะทำให้นิติกรรมเกิดผลขึ้นหรือไม่ ย่อมอยู่ที่ความพอใจหรือความสมัครใจของลูกหนี้แต่ฝ่ายเดียวโดยไม่มีบุคคลอื่นหรืออำนาจใด ๆ เข้ามาผูกพันกับลูกหนี้คดีนี้ การที่จำเลยทั้งสองตกลงจะคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองขายที่ดินได้นั้น จำเลยทั้งสองจะขายที่ดินได้หรือไม่ได้ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ความพอใจหรือความสมัครใจของจำเลยทั้งสองแต่ฝ่ายเดียว แต่ขึ้นอยู่กับบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้จะซื้อด้วยว่ามีความพอใจหรือไม่พอใจที่จะซื้อตามข้อเสนอของจำเลยทั้งสองหรือไม่ดังนั้น เงื่อนไขบังคับก่อนดังกล่าวจึงไม่ใช่เงื่อนไขอันจะสำเร็จได้หรือไม่สุดแล้วแต่ใจของฝ่ายลูกหนี้ข้อตกลงของจำเลยทั้งสองที่ว่าจะคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์เมื่อขายที่ดินได้ จึงไม่เป็นโมฆะมีผลใช้บังคับได้เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่ได้ขาย จำเลยทั้งสองก็ยังไม่ได้ผิดข้อตกลง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
ที่โจทก์ฎีกาว่า แม้ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นโมฆะจำเลยทั้งสองก็จะต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ เพราะคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากันโดยไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา คู่สัญญาย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิมนั้นเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญารับสภาพหนี้ซึ่งจำเลยทั้งสองจะคืนเงินมัดจำ 200,000 บาทให้แก่โจทก์เมื่อขายที่ดินแปลงดังกล่าวได้แล้ว ในชั้นชี้สองสถานศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เป็นบันทึกการรับสภาพหนี้หรือไม่โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามบันทึกดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ข้อที่โจทก์ฎีกาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน