คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6924/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดี ศาลต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การและกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย มิใช่พิจารณาจากคำฟ้องและคำให้การเท่านั้น แม้จำเลยจะให้การตั้งประเด็นต่อสู้ว่าผู้ตายแจ้งกับจำเลยว่าเป็นโสด ยังไม่ได้แต่งงาน จำเลยจึงตกลงจดทะเบียนสมรสแต่งงานอยู่กินกับผู้ตายมาถึง 35 ปี โดยเข้าใจว่าผู้ตายมิได้มีภริยามาก่อนก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1452 บัญญัติเงื่อนไขการสมรสว่า ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ และมาตรา 1496 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจดทะเบียนสมรสบัญญัติว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะ โดยมิได้บัญญัติว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 จะต้องกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ดังนั้น หากชายหรือหญิงทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ว่าจะกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ย่อมตกเป็นโมฆะ
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนการสมรสที่ตกเป็นโมฆะ เพราะผู้ตายจดทะเบียนกับจำเลยในขณะที่ผู้ตายมี บ. เป็นคู่สมรส การจดทะเบียนสมรสดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โดยไม่จำต้องคำนึงถึงว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสโดยสุจริตหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นมิได้นำถ้อยคำที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายโดยสุจริตไปกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่าง อ. กับจำเลยเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนตกเป็นโมฆะตามฟ้องหรือไม่ จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุให้ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนสมรสของจำเลยกับพลตรี อ. และแจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรสของจำเลยกับพลตรี อ.
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้การสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายตามทะเบียนสมรส สำนักทะเบียนอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เลขทะเบียนที่ 50/4503 ลงวันที่ 23 มกราคม 2522 เป็นโมฆะ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วให้แจ้งความเป็นโมฆะแก่นายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1497/1
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพลตรี อ. และนาง บ. พลตรี อ.และนาง บ. ได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2509 ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2522 พลตรี อ.ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลย ที่สำนักทะเบียนอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก และในวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 พลตรี อ.และนาง บ. มารดาของโจทก์ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกัน ณ สำนักทะเบียนเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เดิมจำเลยชื่อนาง ก. และในวันที่ 22 พฤษภาคม 2549 เปลี่ยนชื่อตัวเป็น พ. ตามสำเนาหนังสือสำคัญเล่มที่ 158 ฉบับที่ 12618/2543 และสำเนาหนังสือสำคัญเล่มที่ 252 ฉบับที่ 21799/2549 ต่อมาวันที่ 5 กันยายน 2557 พลตรี อ.ได้ถึงแก่ความตาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้ตาย (หมายถึงพลตรี อ.) กับจำเลย เป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อน ตกเป็นโมฆะตามฟ้องหรือไม่ ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ให้การต่อสู้ว่า ก่อนจดทะเบียนสมรสผู้ตายแจ้งกับจำเลยว่าไม่เคยจดทะเบียนสมรสกับผู้ใดมาก่อนและยืนยันต่อนายทะเบียนเช่นนั้น ทำให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าผู้ตายไม่เคยจดทะเบียนสมรสกับใครมาก่อน ขณะจำเลยอยู่กินกับผู้ตาย จำเลยก็ไม่ทราบว่าผู้ตายมีภริยาหรือจดทะเบียนสมรสมาก่อน ศาลชั้นต้นจึงต้องกำหนดประเด็นข้อพิพาทในประเด็นนี้ว่า “การจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนโดยสุจริตหรือไม่” เห็นว่า การกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดี ศาลต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย มิใช่พิจารณาจากคำฟ้องและคำให้การเท่านั้น ดังนั้น แม้ในคำให้การของจำเลยจะให้การตั้งประเด็นต่อสู้มาแต่ต้นว่าผู้ตายแจ้งกับจำเลยว่าเป็นโสดยังไม่ได้แต่งงาน จำเลยจึงตกลงจดทะเบียนสมรสแต่งงานอยู่กินกับผู้ตายมานานถึง 35 ปี โดยเข้าใจว่าผู้ตายมิได้มีภริยามาก่อนก็ตาม แต่เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 บัญญัติถึงเงื่อนไขการสมรสว่า ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ และในมาตรา 1496 (เดิม) บัญญัติว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะ โดยกฎหมายมิได้บัญญัติว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 จะต้องกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ดังนั้น หากชายหรือหญิงทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ว่าจะกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนการสมรสที่ตกเป็นโมฆะ เพราะผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับจำเลยในขณะที่ผู้ตายมีนาง บ. เป็นคู่สมรสอยู่แล้ว การจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โดยไม่จำต้องคำนึงถึงจำเลยว่าได้จดทะเบียนสมรสโดยสุจริตหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นมิได้นำถ้อยคำที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนโดยสุจริตไปกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างพลตรี อ.กับจำเลยเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อน ตกเป็นโมฆะตามฟ้องหรือไม่ จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share