แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามฯ ยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 เป็นบทกำหนดโทษ ให้ระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดในกรณีพนักงานส่วนท้องถิ่นกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เมื่อศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบ เป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งมีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตประกอบ พ.ร.บ. มาตรการในการ ปราบปรามฯ ยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 โดยระวางโทษเป็นสามเท่าแล้วให้ประหารชีวิตไม่ถูกต้อง เพราะกรณี ไม่มีทางที่จะระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตได้ จึงนำมาตรา 10 แห่งบทบัญญัติ ดังกล่าวข้างต้นมาปรับด้วยไม่ได้ จำเลยที่ 1 คงมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 66 วรรคสอง เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องระวางโทษเป็นสามเท่า แต่เมื่อโทษตามมาตรา 66 วรรคสอง กำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ให้สูงกว่าโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยให้ประหารชีวิตก่อนลดโทษให้นั้นเหมาะสมแล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็น ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๑๐๒ พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓, ๔, ๑๐ ป.อ. มาตรา ๓๒, ๓๓, ๘๓, ๙๑ ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง (ที่ถูกวรรคหนึ่งด้วย), ๖๖ วรรคสอง พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ ป.อ. มาตรา ๘๓ จำเลยที่ ๒ มีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง (ที่ถูกวรรคหนึ่งด้วย), ๖๖ วรรคสอง ป.อ. มาตรา ๘๓ เมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงบทเดียว ตาม ป.อ. มาตรา ๙๐ จำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น เมื่อระวางโทษเป็นสามเท่าแล้วคงให้ประหารชีวิต ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ สำหรับจำเลยที่ ๑ ประกอบ ป.อ. มาตรา ๕๒ (๑) คงจำคุกตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ ๒ ประกอบป.อ. มาตรา ๕๓ คงจำคุกมีกำหนด ๓๓ ปี ๔ เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ ๑ ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ โดยเมื่อระวางโทษเป็นสามเท่าแล้วคงให้ประหารชีวิตนั้นไม่ถูกต้อง เพราะตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ วรรคสอง ผู้กระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนซึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินหนึ่งร้อยกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต และตามมาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ. มาตรการในการปรามปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นบทกำหนดโทษ กรณีจึงไม่มีทางที่จะระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตได้ จึงนำมาตรา ๑๐ แห่งบทบัญญัติดังกล่าวมาปรับด้วยไม่ได้ จำเลยที่ ๑ คงมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่งและวรรคสอง, ๖๖ วรรคสอง เท่านั้น และเมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งจะต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น แต่เมื่อโทษตามมาตรา ๖๖ วรรคสอง กำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ ๑ ให้สูงกว่าโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยให้ประหารชีวิตก่อนลดโทษให้นั้นเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ และ แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มี พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๘ และมาตรา ๑๙ ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ และมาตรา ๖๖ แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ แก่จำเลยทั้งสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่งและวรรคสอง, ๖๖ วรรคสอง ประกอบด้วย ป.อ. มาตรา ๘๓ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงบทเดียว ตาม ป.อ. มาตรา ๙๐ จำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นให้ประหารชีวิต ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ สำหรับจำเลยที่ ๑ ประกอบด้วย ป.อ. มาตรา ๕๒ (๑) คงจำคุก ตลอดชีวิต สำหรับจำเลยที่ ๒ ประกอบด้วย ป.อ. มาตรา ๕๓ คงจำคุก ๓๓ ปี ๔ เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง.