คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 691/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายมีข้อความว่า ‘ผู้ขายยอมขายที่ดินแปลงที่กล่าวข้างบนนี้ทั้งแปลงแก่ผู้ซื้อ ฯลฯ’ ผู้ซื้อย่อมนำพยานมาสืบได้ว่า ผู้ขายตกลงด้วยวาจาขายที่นอกโฉนดด้วย โดยขายเหมาทั้งแปลงตามแนวเขตที่ผู้ขายนำชี้ การนำสืบเช่นนี้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายที่ดินโฉนดที่ 2460 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน72 ตารางวา โดยตกลงขายเหมาและชี้เขตคันกัน ต่อมาปรากฏว่าจำนวนเนื้อที่มากกว่าที่ปรากฏในโฉนดจำเลยไม่ยอมส่งมอบที่ดินตามสัญญาให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ได้ตกลงขายเฉพาะที่ดินในโฉนดที่ 2460 ไม่ใช่ขายเหมาทั้งแปลง โจทก์จำเลยได้ตกลงกันว่า ถ้ามีที่ดินเกินโฉนด โจทก์ก็จะรับซื้อไว้ด้วย แล้วโจทก์จำเลยได้สอบเขตมีที่ดินเกินโฉนด แต่โจทก์กลับไม่ซื้อ อ้างว่าเงินไม่พอ

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่าตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 โจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบว่าได้มีการตกลงด้วยวาจานอกเหนือข้อความในสัญญาซื้อขายไม่ได้เป็นการนำสืบแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในเอกสารสัญญาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข) พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยรับอยู่แล้วว่า นอกเหนือจากสัญญาซื้อขายที่พิพาทแล้วยังมีข้อตกลงในการขายที่ดินเกินโฉนดให้โจทก์การที่โจทก์จะขอสืบว่า จำเลยได้ตกลงด้วยวาจาขายที่เกินโฉนดให้โจทก์ด้วยนั้น โจทก์นำสืบได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อโต้เถียงของโจทก์จำเลยในประเด็นสำคัญมีอยู่ว่า จำเลยได้ตกลงขายที่พิพาทโดยขายเหมาทั้งแปลงแก่โจทก์หรือไม่นี้ ไม่เป็นการนำสืบแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในเอกสารสัญญา เพราะโจทก์ขอนำสืบว่าเป็นการขายทั้งแปลงตามแนวเขตที่จำเลยได้ชี้ให้แก่โจทก์กรณีจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

พิพากษายืน

Share