คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6908/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประกาศมหาวิทยาลัยโจทก์เรื่องข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้พักอาศัยในที่พักของมหาวิทยาลัย ต้องรับผิดชอบซ่อมแซมหรือชดใช้ต่อการชำรุดเสียหายของที่พักในระหว่างที่อยู่อาศัย ซึ่งมีหลักฐานแน่ชัดว่าได้เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้อาศัยเอง และต้องระมัดระวังการใช้ไฟฟ้า อย่าประมาทเลินเล่อ ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการเหลียวแลเป็นอันขาด เป็นเพียงข้อที่ผู้เข้าอยู่อาศัยควรปฏิบัติตาม ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามและพิสูจน์ได้ว่าผู้เข้าอยู่อาศัยกระทำให้ที่พักหรืออุปกรณ์เสียหาย ก็ต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองบ้านพักที่เกิดเหตุและขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ไม่มีผู้ใดอยู่ในบ้าน แต่เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับตัวบ้านกฎหมายมิได้วางบทสันนิษฐานล่วงเลยไปให้เป็นโทษแก่จำเลยผู้ครองเรือนต้องรับผิดในความเสียหาย โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ โจทก์ได้จัดบ้านพักเลขที่ 6/35 ซึ่งเป็นบ้านพักของโจทก์ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ให้จำเลยพักอาศัยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2529 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านพัก โดยประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังฝ่าฝืนประกาศมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่เรื่องข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้พักอาศัยในที่พักของมหาวิทยาลัย ข้อ 7ที่ให้ผู้อยู่อาศัยระมัดระวังการใช้ไฟฟ้าและเชื้อเพลิง อย่าประมาทเลินเล่อ ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการเหลียวแลเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เกิดอัคคีภัยโดยง่าย โดยจำเลยปล่อยปละละเลยทิ้งไว้ซึ่งวัตถุจุดไฟเช่นก้นบุหรี่หรือขี้บุหรี่ ไม่ดับให้สนิทก่อนออกจากบ้านพักเป็นเหตุให้วัตถุจุดไฟดังกล่าวตกไปถูกกับกองหมอนบริเวณกลางห้องชั้นล่างและลุกลามไหม้บ้านพักเลขที่ 6/35 และ 6/33 พร้อมด้วยเครื่องเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ภายในห้องพักของโจทก์เสียหายรวม 9 รายการ คิดเป็นเงินที่โจทก์ต้องซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมรวม220,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 251,144.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 220,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามประกาศของมหาวิทยาลัยและระมัดระวังในการเข้าพักอาศัยในที่พักของมหาวิทยาลัยอย่างวิญญูชนที่เข้าพักอาศัยพึงปฏิบัติทุกประการ ขณะเกิดเพลิงไหม้จำเลยไม่ได้อยู่ที่บ้านจำเลยใช้ความระมัดระวังดูแลความเรียบร้อยโดยดับไฟอันอาจจะเกิดอัคคีภัยในบ้านพักเรียบร้อยแล้ว จึงออกจากบ้านพักไป โจทก์ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า จำเลยเป็นผู้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้ในครั้งนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยกระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านพักอาจารย์ เลขที่ 6/35 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ได้ความจากนายโพธิ์ ปัตตะโก เจ้าหน้าที่บุคคล 5 รักษาราชการในตำแหน่งหัวหน้างานสวัสดิการ และนายเอนก บิลละหีม ลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งยามว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์ได้จัดให้จำเลยซึ่งเป็นอาจารย์สมรสแล้วเข้าอยู่บ้านพักอาจารย์เลขที่ 6/35 ซึ่งอยู่ติดกับบ้านพักเลขที่ 6/33 จำเลยจะต้องปฏิบัติตามประกาศของมหาวิทยาลัยเรื่องข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้พักอาศัยในที่พักของมหาวิทยาลัยเอกสารหมายจ.1 ขณะเกิดเหตุภริยาจำเลยอยู่ระหว่างลาศึกษาต่อ วันเกิดเหตุนายเอนกเดินยามตรวจผ่านบ้านที่เกิดเหตุเห็นประตูบ้านและหน้าต่างปิดไว้เรียบร้อย จนเวลาประมาณ 20 นาฬิกา ขณะนายเอนกยืนคุยอยู่กับเพื่อนยามที่ใต้ถุนแฟลตห่างบ้านที่เกิดเหตุประมาณ300 เมตร ก็เห็นควันไฟขึ้นมาจากหลังคาบ้านที่เกิดเหตุ เมื่อวิ่งไปดูก็พบว่าไฟไหม้ชั้นล่างบ้านที่เกิดเหตุ และลุกไหม้ตามบันไดไม้ขึ้นไปชั้นบนไม่ปรากฏว่ามีคนอยู่ในบ้าน จึงร่วมดับไฟกับยามและตำรวจดับเพลิง เห็นว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยได้กระทำการใดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เกิดเพลิงไหม้ที่บ้านที่พิพาท คงได้ความจากร้อยตำรวจโทธวัชชัย เมฆประเสริฐสุขตำรวจกองกำกับการวิทยาการกองบังคับการตำรวจภูธร 12 จังหวัดยะลาซึ่งไปตรวจสถานที่เกิดเหตุเวลารุ่งเช้าว่า จากการตรวจที่เกิดเหตุปรากฏว่าประตูหน้าต่างทุกบานอยู่ในสภาพปิดหมด บริเวณกองหมอนอยู่ที่ชั้นล่าง บริเวณห้องรับแขกซึ่งไม่มีสายไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าบริเวณนั้นเป็นจุดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด สันนิษฐานว่าเป็นจุดต้นเพลิง น่าเชื่อว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากวัตถุที่มีไฟติดอยู่ เช่น ก้นบุหรี่ หรือสะเก็ดไฟที่กระเด็นมาจากที่อื่นตกลงบนกองหมอนและไฟลามขึ้นชั้นบน การไหม้จะใช้เวลาประมาณ2-6 ชั่วโมงปกติที่จุดใดมีเชื้อเพลิงมากที่สุด เช่น ตู้ เตียงเสื้อผ้า จุดนั้นจะมีไฟไหม้มาก บ้านเกิดเหตุมีแผงสวิตซ์ตัดไฟฟ้าเวลาไฟฟ้าเกิดลัดวงจร ถ้ามีเหตุไฟฟ้าลัดวงจรแผงไฟจะตัดทันทีแต่วันเกิดเหตุไม่มีไฟฟ้าลัดวงจร ปรากฏตามบันทึกการตรวจสภาพที่เกิดเหตุแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย ป.จ.1 เห็นว่า แม้จะได้ความจากข้อสันนิษฐานของร้อยตำรวจโทธวัชชัยว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดจากวัตถุที่มีไฟติดอยู่ เช่น ก้นบุหรี่หรือสะเก็ดไฟตกลงบนกองหมอนที่ห้องรับแขก และนายไพโรจน์ อินทรศิริสวัสดิ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่เบิกความว่า เคยเห็นจำเลยสูบบุหรี่จัดที่สโมสรก็ตาม ก็ยังไม่อาจบ่งชี้ว่าจำเลยหรือบริวารเป็นคนทิ้งก้นบุหรี่ หรือสะเก็ดไฟลงที่กองหมอนในห้องรับแขกทั้งจำเลยก็มีนายสุรัตน์ ชวนรำลึก เป็นพยานเบิกความยืนยันว่าวันเกิดเหตุนายสุรัตน์เข้าไปเอาเครื่องเล่นวีดีโอที่ห้องรับแขกบ้านพักจำเลย ขณะจำเลยกำลังเลี้ยงไก่ ไม่เห็นจำเลยสูบบุหรี่เห็นว่า แม้มีประกาศมหาวิทยาลัยเรื่องข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้พักอาศัยในที่พักของมหาวิทยาลัยเอกสารหมาย จ.1 ข้อที่ 4กล่าวใจความว่า “ต้องรับผิดชอบซ่อมแซมหรือชดใช้ต่อการชำรุดเสียหายของที่พัก หรืออุปกรณ์ในระหว่างที่อยู่อาศัย ซึ่งมีหลักฐานแน่ชัดว่าได้เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้อาศัยเอง” และข้อที่ 7กล่าวว่า ระมัดระวังการใช้ไฟฟ้าและเชื้อเพลิง อย่าประมาทเลินเล่อปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการเหลียวแลเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย ๆ” ก็ตามก็มีความหมายเป็นเพียงข้อที่ผู้เข้าอยู่อาศัยควรปฏิบัติตาม ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามและพิสูจน์ได้ว่าผู้เข้าอยู่อาศัยกระทำให้ที่พักหรืออุปกรณ์เสียหาย ก็ต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น คดีนี้แม้ฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองบ้านที่เกิดเหตุ และขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ไม่มีผู้ใดอยู่บ้านแต่เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับตัวบ้านกฎหมายมิได้วางบทสันนิษฐานล่วงเลยไปให้เป็นโทษแก่จำเลยผู้ครองเรือนต้องรับผิดในความเสียหายซึ่งโจทก์มีภาระการพิสูจน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 84 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420ว่าจำเลยได้กระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านพักจากเพลิงไหม้ให้แน่ชัด ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share