คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การประเมินค่ารายปีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯนอกจากจะนำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักแล้ว ยังต้องคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ รวมทั้งยังต้องดูหลักเกณฑ์อื่นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ด้วย การนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเพียงข้อเดียวมากำหนดค่ารายปีในเมื่อค่ารายปีของโรงเรือนอาจเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามสภาพข้อเท็จจริงจึงเป็นการไม่ถูกต้อง สำหรับการกำหนดค่ารายปีคดีนี้ ศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดโดยการประเมินให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ดรรชนีราคาผู้บริโภคของทางราชการเพื่อความเป็นธรรมแล้วกำหนดเป็นค่าเช่าต่อหนึ่งตารางเมตรต่อเดือน ซึ่งค่าเช่าดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ค่าเช่าภายในของอาคารที่โจทก์มีห้องชุดให้เช่า จึงถือได้ว่ามีความเหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของคุณหญิงดุษฎีศุภมงคล ผู้ตาย ตามคำสั่งของศาลจังหวัดชลบุรี โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินคดีแทนผู้ตายเป็นเจ้าของห้องชุดเลขที่ 3354/18อาคารชุดชื่อ “อาคารชุดมโนรม” เลขที่ 1 ชั้นที่ 6 เนื้อที่ประมาณ277 ตารางเมตร ตั้งอยู่เลขที่ 3354 ถนนพระราม 4 แขวงคลองตันเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 187300,187634 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ส่วนสำนักงานเขตคลองเตยเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกรุงเทพมหานครได้รับมอบหมายให้ประเมินและจัดเก็บภาษีโรงเรือนในคลองเตยเมื่อปี 2534 ถึงปี 2540 โจทก์ที่ 1ให้บริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด เช่าห้องชุดเลขที่ 3354/18 ประกอบธุรกิจค่าเช่าห้องชุดคิดเป็นปี ๆ นับแต่เริ่มเช่าค่าเช่าปี 2539 เป็นเงินเดือนละ86,700 บาท ค่าเช่าปี 2540 เดือนละ 91,900 บาท โจทก์ที่ 1 ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) สำหรับห้องชุดเลขที่ดังกล่าวต่อจำเลยตามที่ได้รับค่าเช่าจากผู้เช่าในแต่ละปีตลอดอายุสัญญาเช่าดังกล่าว แล้วเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินมาตลอดทุกปีเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าบริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด ไม่เช่าต่อ วันที่ 26พฤศจิกายน 2540 บริษัท เอ.บี.บี. เด็มเล่อร์ เบนซ์ทรานสปอตเทชั่น(ซิคแนล) จำกัด จึงได้มาเช่าห้องดังกล่าวทำเป็นสำนักงานตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2541 ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท ต่อมาวันที่ 23กรกฎาคม 2541 โจทก์ที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2การที่อัตราค่าเช่าห้องราคาต่ำลงก็เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำบรรดาห้องชุดหาผู้เช่าลำบาก โจทก์จึงเรียกเก็บค่าเช่าในอัตราเดิมไม่ได้ โจทก์ที่ 1ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ประจำปี2541 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2541 และโจทก์ที่ 2ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ประจำปี2541 ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2541 ต่อจำเลยตามค่าเช่าที่เรียกเก็บจากผู้เช่าเดือนละ 50,000 บาท ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม2542 เจ้าพนักงานของจำเลยได้แจ้งรายการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2541 ให้แก่โจทก์ทั้งสองทราบโดยแจ้งประเมินค่ารายปีสำหรับโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 735,200 บาทคิดเป็นเงินค่าภาษี 91,900 บาท แจ้งประเมินค่ารายปีสำหรับโจทก์ที่ 2เป็นเงิน 367,600 บาท คิดเป็นเงินค่าภาษี 45,950 บาท รวมเป็นเงินค่ารายปี 1,102,800 บาท ค่าภาษี 137,850 บาท โจทก์ทั้งสองชำระภาษีแล้วแต่ไม่เห็นด้วยกับการประเมินเพราะค่าเช่ารับจริงซึ่งโจทก์ที่ 1ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2541 เป็นเงินค่าเช่า400,000 บาท ค่าภาษี 50,000 บาท และโจทก์ที่ 2 รับค่าเช่าตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2541 เป็นเงินค่าเช่า 200,000 บาทค่าภาษี 25,000 บาท โจทก์ทั้งสองต้องเสียภาษีเกินไปเป็นจำนวนเงิน62,850 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันชำระภาษีถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,474บาท ขอให้บังคับให้จำเลยเพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2541 และคำชี้ขาดของจำเลยตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองและให้จำเลยประเมินค่ารายปีใหม่โดยคิดตามอัตราค่าเช่าเดือนละ 50,000บาท ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีที่โจทก์ทั้งสองชำระให้แก่จำเลยเกินไปเป็นเงิน62,850 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระแก่จำเลยจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 จึงเป็นการขัดต่อมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะขอเพิกถอนการประเมินค่าภาษีประจำปี 2541 แต่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5ถึง 10 และ 13 ถึง 14 ล้วนแต่เป็นค่าภาษีประจำปี 2542 จำเลยประเมินภาษีจากค่ารายปีในปีที่ล่วงมาแล้วซึ่งโจทก์ยอมรับและชำระค่าภาษีไว้โดยจำเลยได้มีการเปรียบเทียบค่าเช่าของโจทก์กับค่าเช่าของผู้อื่นในอาคารเดียวกันกับโจทก์นั้นเอง การประเมินของจำเลยจึงชอบแล้ว จำเลยไม่ต้องคืนเงินและรับผิดในดอกเบี้ยต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนแก้ไขใบแจ้งรายการประเมิน (ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 และ 8) และใบแจ้งคำชี้ขาด(ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 13 และ 14) ตามลำดับ (ที่ถูกให้เพิกถอนการประเมินเฉพาะส่วนที่เกินเป็นเงิน 38,130 บาท) ให้จำเลยคืนเงินภาษี38,130 บาท แก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดหากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน ที่นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า การประเมินของจำเลยชอบหรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่เห็นด้วยที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดค่ารายปีโดยให้ราคาประเมินเดือนละ 250 บาท ต่อตารางเมตร คิดเป็นค่ารายปี831,000 บาท ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 99,720 บาท เพราะจำเลยนำสืบโดยมีนางสาวลดาวรรณ ชูติกาญจน์ เจ้าพนักงานผู้ทำการประเมินภาษีมาเบิกความยืนยันถึงหลักเกณฑ์ในการประเมินโดยการเปรียบเทียบว่าห้องชุดของโจทก์สมควรให้เช่าได้เท่าใด เมื่อเปรียบเทียบกับการเช่าของผู้อื่นซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกันนั้น ซึ่งปรากฏว่าค่าเช่าในอาคารดังกล่าวอยู่ในระหว่างเดือนละ 250 บาท ถึง 750 บาท ต่อหนึ่งตารางเมตรแล้วประเมินค่ารายปีอาคารชุดของโจทก์อัตราเดือนละ 338 บาทต่อหนึ่งตารางเมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์การเช่าของผู้อื่นโดยโจทก์เองก็ยอมรับว่าเคยมีการเช่าในอัตราดังกล่าวนั้น เห็นว่า นางสาวลดาวรรณได้บันทึกไว้ท้ายแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีของโจทก์ความว่า “โรงเรือนตามรายละเอียดใน ภ.ร.ด.2 ปี 2542 เห็นสมควรกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีเท่าเดิม…” แสดงว่านางสาวลดาวรรณนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเพียงข้อเดียวมากำหนดเป็นค่ารายปีของโจทก์ทั้งสอง ในเมื่อค่ารายปีของโรงเรือนนั้นอาจเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามสภาพข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์มีนายประเสริฐ จงเกษมวงศ์ เป็นพยานเบิกความว่า อาคารนี้เดิมให้บริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด เป็นผู้เช่าเสียค่าเช่าเป็นรายเดือนแต่ทำสัญญาเช่าทุก 3 ปี อัตราค่าเช่าจะเพิ่มขึ้นตลอดโดยปี 2539 ค่าเช่าเดือนละ 86,700 บาท ปี 2540 เดือนละ 91,900 บาท ต่อมาวันที่ 26พฤศจิกายน 2540 บริษัท เอ.บี.บี. เด็มเล่อร์เบนซ์ทรานสปอตเทชั่น(ซิคแนล) จำกัด มาขอเช่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 ค่าเช่าเดือนละ50,000 บาท ช่วงที่บริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด เช่านั้นเศรษฐกิจดีจึงได้ค่าเช่าดังกล่าว แต่พอช่วงบริษัทต่างด้าว (คือบริษัท เอ.บี.บี.)เข้ามาเช่านั้น เศรษฐกิจตกต่ำมาก หากไม่มีการเช่าในราคานี้ (50,000 บาท)ก็จะไม่มีผู้เข้ามาเช่า ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งจึงฟังข้อเท็จจริงตามคำพยานโจทก์ได้ว่าหากโจทก์ยืนค่าเช่าในอัตราสูงเช่นเดิมก็จะไม่มีผู้มาเช่าอาคารของโจทก์เนื่องจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้น การที่นางสาวลดาวรรณเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมากำหนดเป็นค่ารายปีและประเมินภาษีซึ่งโจทก์จะต้องเสียในปีต่อมาเพียงอย่างเดียว จึงไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการประเมินค่ารายปีนั้นนอกจากจะนำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475แล้วความในมาตรา 8 ยังระบุให้เจ้าพนักงานประเมินต้องคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเล ที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ รวมทั้งยังต้องดูหลักเกณฑ์อื่นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ด้วย สำหรับคดีนี้เมื่อกรณีมีปัญหาว่าค่าเช่าที่จะนำมาประเมินค่ารายปีควรจะเป็นเท่าใดแน่ หากจะนำค่าเช่าของทรัพย์สินที่คล้ายคลึงกันมาเปรียบเทียบก็มีอัตราค่าเช่าแตกต่างกันมาก จนไม่อาจนำมาเทียบเคียงได้ การที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดค่ารายปีโดยการประเมินให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจดรรชนีราคาผู้บริโภคของทางราชการเพื่อความเป็นธรรมในการกำหนดค่ารายปีแล้ว กำหนดเป็นค่าเช่าต่อหนึ่งตารางเมตรต่อเดือน เดือนละ 250 บาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่าเช่าภายในอาคารมโนรมตามคำเบิกความของนางสาวลดาวรรณเจ้าพนักงานประเมินของจำเลย จึงถือได้ว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้วที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share