คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4305/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นสมุห์บัญชีและจำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจทำคำรับรองเช็คว่าใช้เงินได้ และจำเลยที่ 2 ยังมีอำนาจลงลายมือชื่อในตำแหน่งผู้จัดการของจำเลยที่ 1ได้ด้วย ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1ลงบนด้านหลังเช็คซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นผู้สั่งจ่าย แล้วนำไปแลกเงินจากโจทก์ แม้ตราที่ประทับจะใช้สำหรับกรณีลูกค้าของธนาคารนำเงินเข้าบัญชีหรือถอนเงิน และเป็นการกระทำเกินอำนาจจำเลยที่ 2 ที่ 3ก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์และการปฏิบัติของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 อยู่ภายในขอบอำนาจที่จะกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้จำเลยที่ 1 จึงร่วมรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นสมุห์บัญชีและผู้ช่วยสมุห์บัญชี มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 22 เมษายน2528 จำเลยที่ 4 ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารจำเลยที่ 1 จำนวนเงิน65,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อสลักหลังเป็นผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่าย มาแลกเงินสดจากโจทก์เมื่อเช็คถึงกำหนดธนาคารปฏิเสธการใช้เงิน จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงินตามเช็คและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 67,437.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินตามเช็คนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เฉพาะเรื่องออกหนังสือค้ำประกันเท่านั้นมิได้มอบอำนาจการรับอาวัลตั๋วเงิน จำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 การสลักหลังเช็คตามฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราในเช็คพิพาท ลายมือดังกล่าวปลอมไม่พูกพันจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ โจทก์ได้เช็คมาโดยไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 67,417.50บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน65,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ลงบนด้านหลังเช็คพิพาทแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำการอาวัลเช็คได้ แต่ตามเอกสารหมาย จ.4 หรือ ล.2 เรื่องการลงลายมือชื่อในนามของจำเลยที่ 1 ได้ระบุให้อำนาจจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไว้ว่าทำคำรับรองเช็คว่าใช้เงินได้ และระบุให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานชั้น ก. ของสำนักงานใหญ่มีอำนาจลงลายมือชื่อในตำแหน่งผู้จัดการสาขานครพนม ได้ด้วย นายประจิต ภัทรพงพันธ์ ผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า เอกสารฉบับดังกล่าวนี้ ธนาคารจำเลยที่ 1ได้ประกาศแจ้งไปยังธนาคารอื่นซึ่งเกี่ยวข้องทราบ และด้านหลังเอกสารนั้นมีรายชื่อกับตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3ปรากฏอยู่ด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อกับประทับตราของจำเลยที่ 1 ไว้ด้านหลังเช็คพิพาท แม้ตราที่ประทับจะใช้สำหรับกรณีลูกค้าของธนาคารนำเงินมาเข้าบัญชีหรือถอนเงินจากบัญชี และการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จะเป็นการเกินอำนาจก็ตามแต่ตามพฤติการณ์และการปฏิบัติของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่า การกระทำของจำเลยที่ 2ที่ 3 อยู่ภายในขอบอำนาจที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะกระทำการสลักหลังเช็คพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821และ มาตรา 822
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share