คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6234/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจะพิจารณาว่าโจทก์เป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนหรือไม่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่โจทก์ กับจำเลยปฏิบัติต่อกันประกอบด้วย มิใช่พิจารณาเฉพาะข้อความในเอกสารสัญญาจ้างเท่านั้น แม้สัญญาจ้างจะมีกำหนดระยะเวลาไว้ แต่โจทก์จำเลยปฏิบัติต่อกันโดยโจทก์บางคนทำงานกับจำเลยเป็นเวลานาน มีการทำสัญญาจ้างหลายครั้งหลายหน มีการทำย้อนหลัง โจทก์จำเลยมิได้ถือตามสัญญาจ้างอย่างจริงจัง จำเลยมีเจตนาจ้างโจทก์ไว้เป็นประจำแสดงว่าโจทก์มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
การเล่นการพนันแม้จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ในสภาพที่โจทก์ต้องประจำอยู่ในเรือเดินทะเลตลอดเวลา การเล่นการพนันระหว่างเพื่อนพนักงานด้วยกันเป็นบางครั้งบางคราวโดยจำเลยมิได้เสียงานทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นการพนันประเภทใด ได้เสียกันมากน้อยเท่าใดและมิได้เล่นเป็นอาจิณ ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3)
จำเลยจ่ายค่าอาหารให้พนักงานเฉพาะที่อยู่บนเรือทุกคนโดยกำหนดจำนวนไว้แต่ละคน แต่มิได้จ่ายเหมาเป็นเงินให้โดยตรง พนักงานจะได้รับเงินส่วนแบ่งเฉพาะกรณีที่ใช้เป็นค่าอาหารไม่หมดเท่านั้น โดยนำส่วนที่เหลือมาเฉลี่ยกันทุกคน แม้พนักงานคนใดจะไม่ได้รับประทานอาหารก็จะมิได้รับค่าอาหารเต็มจำนวนที่กำหนดไว้ให้แต่ละคน คงได้รับเฉพาะส่วนเฉลี่ยสำหรับเงินที่เหลือจากค่าอาหารเช่นเดียวกับพนักงานอื่นที่รับประทานอาหาร แต่หากจ่ายเป็นค่าอาหารหมดก็ไม่ได้รับเงินนั้น เงินค่าอาหารดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ แต่เป็นสวัสดิการเฉพาะกรณีที่พนักงานอยู่บนเรือเท่านั้น ค่าอาหารจึงมิใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยได้รับค่าจ้างตามฟ้อง ต่อมาวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๒ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยโจทก์ทั้งสามมิได้มีความผิด ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสามมีกำหนดเวลา ๖ เดือนเบี้ยเลี้ยงและเงินพิเศษไม่ใช่ค่าจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยบอกกล่าวให้ทราบแล้วและเหตุที่เลิกจ้างเพราะโจทก์ทั้งสามกระทำผิดอาญาโดยลักลอบ เล่นการพนันขณะอยู่บนเรือและลักลอบค้าของหนีภาษี อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามหรือข้อบังคับในการทำงานและข้อตกลงในการว่าจ้างจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๕๔,๗๘๗.๒๐ บาท โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๒๐,๔๙๗.๘๐ บาทและโจทก์ที่ ๓ จำนวน ๓๔,๘๖๖ บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่จะพิจารณาว่าโจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสามกับจำเลยปฏิบัติต่อกันประกอบด้วย มิใช้พิจารณาจากข้อความในเอกสารสัญญาจ้างเท่านั้น ถึงแม้ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.๔, ล.๕ และ ล.๖ จะมีกำหนดระยะเวลาไว้ แต่การปฏิบัติของจำเลยและโจทก์ที่ปฏิบัติต่อกันนั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์บางคนทำงานกับจำเลยเป็นเวลานานและมีการทำสัญญาตามเอกสารหมาย ล.๔, ล.๕ และ ล.๖หลายครั้งหลายหน บางครั้งมีการทำสัญญากันย้อนหลัง โจทก์ทั้งสามกับจำเลยมิได้ถือตามเอกสารหมาย ล.๔, ล.๕ หรือ ล.๖ อย่างจริงจังจำเลยมีเจตนาจ้างโจทก์ทั้งสามไว้เป็นประจำ ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติดังกล่าว แสดงว่าโจทก์ทั้งสามมิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖วรรคท้าย ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการเลิกจ้างการเล่นการพนันแม้จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ในสภาพของโจทก์ทั้งสามที่ต้องประจำอยู่ในเรือเดินทะเลตลอดเวลา การเล่นการพนันระหว่างเพื่อนพนักงานด้วยกันเป็นบางครั้งบางคราวโดยโจทก์ทั้งสามมิได้เป็นเจ้ามือหรือจัดให้มีการเล่น ไม่ปรากฏว่าการเล่นการพนันของโจทก์ทั้งสามก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยโดยตรง และจำเลยมิได้เสียงานทั้งไม่ปรากฏว่ามีการเล่นได้กันมากน้อยเท่าใด เป็นการพนันประเภทใด และมิได้เล่นกันเป็นอาจิณ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๓)
ค่าอาหารหรือที่ศาลแรงงานกลางเรียกว่าเบี้ยเลี้ยง ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ่ายให้สำหรับเป็นค่าอาหารของพนักงานทุกคนเมื่ออยู่บนเรือ สำหรับโจทก์ทั้งสามคิดให้คนละวันละ ๖๖ บาทเมื่อเงินดังกล่าวใช้ไม่หมดจะเฉลี่ยให้พนักงานทุกคน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า จำเลยจ่ายค่าอาหารให้เฉพาะเมื่อพนักงานของจำเลยอยู่บนเรือเท่านั้น และมิได้จ่ายเหมาเป็นเงินให้แต่ละคนโดยตรง พนักงานจะได้รับเงินส่วนแบ่งเฉพาะกรณีที่ใช้เป็นค่าอาหารไม่หมดเท่านั้น โดยนำสวนที่เหลือมาเฉลี่ยกันทุกคน แสดงว่าพนักงานคนใดจะไม่รับประทานอาหาร พนักงานคนนั้นก็มิใช่จะได้รับค่าอาหารเต็มจำนวนที่กำหนดไว้ให้แต่ละคนคงได้รับเฉพาะส่วนเฉลี่ยสำหรับเงินที่เหลือจากค่าอาหารเช่นเดียวกับพนักงานคนอื่นที่รับประทานอาหาร แต่หากจ่ายเป็นค่าอาหารหมด โจทก์ทั้งสามก็ไม่ได้รับเงินนั้น เงินค่าอาหารดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ แต่เป็นสวัสดิการเฉพาะกรณีที่พนักงานอยู่บนเรือเท่านั้น ค่าอาหารจึงมิใช่ค่าจ้างตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๒ ที่ศาลแรงงานกลางนำเอาเงินส่วนนี้ไปคิดรวมเป็นค่าจ้างในการคำนวณค่าชดเชยด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ ๑จำนวน ๔๒,๙๐๗.๒๐ บาท โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๑๔,๕๕๗.๘๐ บาท และโจทก์ที่ ๓ จำนวน ๒๒,๙๘๖ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share