แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 445 และ 1567ย่อมแสดงให้เห็นว่า หากบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้มอบหน้าที่ให้บุตรทำการงานอันใดอันหนึ่งในครัวเรือนแล้วปรากฏว่ามีบุคคลใดทำละเมิดต่อบุตรซึ่งมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้แก่บิดามารดาจนถึงแก่ความตาย ผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือค่าขาดแรงงานในครัวเรือนให้แก่บิดามารดาที่ต้องขาดแรงงานอันนั้นด้วย และการฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานดังกล่าวมิใช่การฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคสาม ซึ่งเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตรานี้มีความมุ่งหมายว่าหากมีการทำละเมิดจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย บิดาหรือมารดาของผู้ตายก็ชอบที่จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนการขาดไร้อุปการะได้ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายจะมีรายได้หรือได้อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาหรือไม่
ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่โจทก์ทั้งสองได้ให้ผู้ตายช่วยดำเนินกิจการของบริษัท ว. ที่โจทก์ทั้งสองได้จัดตั้งขึ้นและโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ดังนี้ บริษัท ว.เป็นนิติบุคคลต่างหากจากโจทก์ทั้งสองการที่ผู้ตายช่วยดำเนินกิจการของบริษัท ว.จะถือว่าผู้ตายช่วยดำเนินกิจการของโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่ และเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสองต้องจ้างบุคคลภายนอกมาทำงานแทนผู้ตาย ก็เป็นการจ้างมาทำงานให้แก่บริษัท ว.ดังนั้น หากเป็นกรณีที่ต้องขาดแรงงาน บริษัท ว.ก็คือบุคคลที่ต้องขาดแรงงานหาใช่โจทก์ทั้งสองไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานจากจำเลยทั้งสอง