คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6897/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้จัดการของโจทก์ร่วม มีหน้าที่ควบคุมดูแลการรับจ่ายเงินและเก็บรักษาเงินของผู้เสียหาย จำเลยในฐานะผู้จัดการของโจทก์ร่วมได้ขายหอมแดงให้แก่บริษัท ก. และจำเลยได้รับเงินจากบริษัท ก. 2 จำนวน เงินนั้นย่อมตกเป็นของโจทก์ร่วมแล้ว ส่วนผู้ซื้อสินค้าเมื่อได้ชำระหนี้ค่าสินค้าแล้ว จึงหาใช่เจ้าของเงินนั้นต่อไป การที่จำเลยไม่นำเงินทั้ง 2 จำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์ร่วมตามหน้าที่ แต่นำเข้าบัญชีส่วนตัวของจำเลยและเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์ร่วมนั้น การที่จำเลยครอบครองเงินของโจทก์ร่วมไว้แล้วไม่ส่งมอบโดยนำเข้าฝากในบัญชีธนาคารของโจทก์ร่วมตามหน้าที่จึงเป็นการกระทำความผิดฐานยักยอก โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ ดำเนินคดีแก่จำเลยได้ส่วนการที่บริษัท ก. จะได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ ส. กรรมการของบริษัท ก. ซึ่งเป็นผู้ส่งมอบเงินของบริษัท ก. แก่จำเลยเพื่อชำระค่าสินค้าที่บริษัท ก. ซื้อจากโจทก์ร่วมในข้อหาฉ้อโกงเงินของบริษัท ก. ซึ่งเป็นเงินจำนวนเดียวกันกับเงินในคดีนี้หรือไม่นั้น ไม่ทำให้ฐานะของโจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 802,500 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรศรีสะเกษ จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วม 802,500 บาท คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายหรือไม่ จำเลยฎีกาสรุปความได้ว่า เงินจำนวน 202,500 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 และเงินจำนวน 600,000 บาท ที่จำเลยรับมาจากนายสวน สุขใจกรรมการของบริษัทกรุงไทยอินเตอร์คอนติเนลตัน จำกัด นั้น บริษัทกรุงไทยอินเตอร์-คอนติเนลตัน จำกัด ได้แจ้งความดำเนินคดีแก่นายสวนในข้อหาฉ้อโกงแล้ว ขณะเดียวกันโจทก์ร่วมก็แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหายักยอกเป็นคดีนี้ จำเลยเห็นว่าเงินจำนวนเดียวกันย่อมจะมีผู้เสียหายเพียงผู้เดียวคือโจทก์ร่วมหรือบริษัทกรุงไทยอินเตอร์คอนติเนลตัน จำกัด ส่วนผู้ถูกดำเนินคดีจะต้องเป็นจำเลยหรือนายสวนคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เมื่อบริษัทกรุงไทยอินเตอร์คอนติเนลตัน จำกัด ได้ดำเนินคดีแก่นายสวนแล้ว โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย นอกจากนี้ยังปรากฏว่านายสวนชำระหนี้ให้แก่จำเลยโดยตรงมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วม เงินที่นายสวนชำระให้แก่จำเลยไม่ผูกพันโจทก์ร่วม แม้จะฟังว่าบริษัทกรุงไทยอินเตอร์คอนติเนลตัน จำกัด จะเป็นลูกหนี้โจทก์ร่วมจริง การนำเงินเข้าบัญชีของจำเลยย่อมไม่มีผลเป็นการชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมเงินดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายนั้นศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้จัดการของโจทก์ร่วมมีหน้าที่ควบคุมดูแลการรับจ่ายเงินและเก็บรักษาเงินของผู้เสียหาย จำเลยในฐานะผู้จัดการของโจทก์ร่วมได้ขายหอมแดงให้แก่บริษัทกรุงไทยอินเตอร์คอนติเนลตัน จำกัด จำเลยได้รับเงินจากบริษัทกรุงไทยอินเตอร์-คอนติเนลตัน จำกัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นเงินค่ามัดจำจำนวน 202,500 บาท ครั้งที่ 2 เป็นการชำระราคาหอมแดงจำนวน 600,000 บาท แล้วจำเลยไม่นำเงินทั้ง 2 จำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์ร่วมตามหน้าที่ แต่นำเข้าบัญชีส่วนตัวของจำเลย และฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์ร่วม ดังนี้เห็นว่า การที่จำเลยรับเงินค่าหอมแดงทั้งสองครั้งไว้ในฐานะดังกล่าวเงินนั้นย่อมตกเป็นของโจทก์ร่วมแล้ว ผู้ซื้อสินค้าเมื่อได้ชำระหนี้ค่าสินค้าแล้วหาใช่เป็นเจ้าของเงินนั้นอีกต่อไปไม่ เมื่อจำเลยครอบครองเงินของโจทก์ร่วมไว้แล้วไม่ส่งมอบโดยนำเข้าฝากในบัญชีธนาคารของโจทก์ร่วมตามหน้าที่อันเป็นความผิดฐานยักยอก โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและโจทก์ร่วมย่อมขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ ส่วนที่ว่าบริษัทกรุงไทยคอนติเนลตัน จำกัด จะได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นายสวนกรรมการของบริษัทกรุงไทยคอนติเนลตัน จำกัด ในข้อหาฉ้อโกงเงินของบริษัทหรือไม่ย่อมไม่ทำให้ฐานะของโจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปดังที่จำเลยฎีกา

พิพากษายืน

Share