แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานยึดสินค้าซึ่งมีเครื่องหมายการค้าปลอมได้จากบริษัทจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบหรือฎีกาว่ามิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมด้วย
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนคดีหลังเป็นโจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์ทั้งสองในสำนวนคดีแรกเป็นโจทก์ที่ 2และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีโจทก์ที่ 3 เป็นกรรมการจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ชื่อ รูปรอยประดิษฐ์ และข้อความบนกล่องสินค้าของโจทก์ที่ 2 โดยทำให้ปรากฏเครื่องหมายการค้า ชื่อรูปรอยประดิษฐ์ และข้อความดังกล่าวบนฝากล่องกระดาษที่ได้บรรจุหลอดไฟกะพริบขนาด 40 ดวง จำนวน 19 กล่อง และบนกระดาษฝากล่องที่ใช้สำหรับบรรจุหลอดไฟกะพริบจำนวน 3,600 แผ่น และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่าย และเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าหลอดไฟกะพริบขนาด 40 ดวง ที่บรรจุอยู่ในกล่องกระดาษจำนวน19 กล่อง ซึ่งมีตราเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนดังกล่าว ชื่อ รูปรอยประดิษฐ์ และข้อความบนกล่องสินค้าของโจทก์ที่ 2 ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมขึ้นให้แก่ผู้อื่นและร้านค้าทั่วไปในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดและคุณภาพแห่งสินค้านั้นว่าเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 อันเป็นเท็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271, 272, 273, 83 และ 91 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108, 110 และ 115 และริบไฟกะพริบซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและกระดาษฝากล่องที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของกลาง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำนวนคดีแรกแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 และ 110(1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 และ83 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานปลอมเครื่องหมายการค้าอันเป็นบทหนักที่สุด ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 25,000 บาท ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด6 เดือน และปรับ 25,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 เดือน และปรับ 50,000 บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 2 ให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30ข้อหาอื่นให้ยก ริบของกลาง
โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยทั้งสองทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 2 ได้พร้อมสินค้าของจำเลยทั้งสองซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษซึ่งบนฝากล่องมีเครื่องหมายการค้าที่พิพาทประทับอยู่จำนวน 19 กล่อง และกระดาษฝากล่องซึ่งมีเครื่องหมายการค้าที่พิพาทประทับอยู่จำนวน 3,600 แผ่น เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 ที่ได้จดทะเบียนไว้ตามกฎหมาย ตามทะเบียนแบบและคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.17
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาโต้แย้งว่า ของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดมาตามบัญชีของกลางเอกสารหมาย จ.16 นั้น โจทก์อ้างส่งศาลเพียงที่ปรากฏตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.20 และ ว.จ.22 เท่านั้น โดยวัตถุพยานหมายว.จ.20 เป็นสินค้าของจริงที่ยึดไปจากจำเลยทั้งสอง บริษัทฟู๊ดแลนด์ จำกัด สาขารามคำแหง ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าปลอมโดยรับสินค้าจากบริษัทสงวนไทย จำกัดและบริษัทสงวนไทย จำกัด รับว่าสินค้าดังกล่าวซื้อมาจากร้านสยามเคมีและห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ็ดดี้ ซัพพลาย หาใช่ซื้อจากบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ และห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ็ดดี้ซัพพลาย รับว่า เป็นผู้จำหน่ายสินค้าที่ปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1จึงไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าที่ปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 นั้น เห็นว่า นายชัยวัฒน์เกตุน้อย พยานโจทก์เบิกความว่า พยานได้นำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยที่ 2 ที่บริษัทจำเลยที่ 1 และค้นพบของกลางคือหลอดไฟกะพริบขนาด 40 ดวง บรรจุในกล่องจำนวน19 กล่อง ที่ชั้นล่าง และกล่องกระดาษที่ยังไม่ได้พับจำนวน 3,600 แผ่น ที่กล่องบรรจุสินค้าดังกล่าวพบว่ามีอักษรที่พิพาทและระบุชื่อบริษัทโจทก์ที่ 2 แต่พยานได้ตรวจสอบแล้วพบว่าสินค้าดังกล่าวไม่ใช่สินค้าที่บริษัทโจทก์ที่ 2 ผลิตขึ้น พยานจึงให้เจ้าพนักงานตำรวจยึดหลอดไฟและกล่องกระดาษที่ยังไม่ได้พับดังกล่าวเป็นของกลาง พยานโจทก์ปากนี้เบิกความด้วยว่า กล่องบรรจุหลอดไฟกะพริบตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 เป็นกล่องสินค้าของจริง ส่วนวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 เป็นสินค้าของปลอม และวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 กับ ว.จ.22 เหมือนกันซึ่งเป็นสินค้าของปลอม ส่วนวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 กับ ว.จ.20 เหมือนกันและเป็นสินค้าของจริงทั้งคู่ แม้วัตถุพยานหมาย ว.จ.20 จะเป็นสินค้าของจริงที่บริษัทโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ผลิตและเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากจำเลยทั้งสองพร้อมกับสินค้าของปลอม ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.22 ก็ตาม แต่จะถือว่าสินค้าทั้งหมดที่ยึดได้จากจำเลยทั้งสองไม่ใช่สินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมนั้นหาได้ไม่ สินค้าของจริงที่ยึดได้จากจำเลยทั้งสองอาจเป็นสินค้าที่จำเลยทั้งสองใช้เป็นตัวอย่างในการปลอมก็เป็นได้
เจ้าพนักงานยึดสินค้าซึ่งมีเครื่องหมายการค้าปลอมได้จากบริษัทจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบหรือฎีกาว่ามิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมด้วย สำหรับฎีกาที่จำเลยที่ 2ขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เพิ่งกระทำความผิดและถูกดำเนินคดีเป็นครั้งแรก จำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพและการงานเป็นหลักฐาน เห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 2กลับตัวเป็นพลเมืองดีสักครั้งหนึ่ง โดยให้รอการลงโทษจำคุกและให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าไม่รอการลงโทษนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด2 ปี โดยให้จำเลยที่ 2 รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ตลอดเวลาที่คุมประพฤติไว้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์