คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. การที่ ส. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโดยระบุให้ ท. เป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. และ ท. ต่างถึงแก่ความตายซึ่งไม่ว่า ท. จะถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ส. ท. ก็ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน เมื่อ ท. ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่า ท. จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์และไม่ถือว่าเงินตามกรมธรรม์ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่ ท. ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้นตกเป็นของกองมรดก ท. กรณีต้องถือว่า ท. ผู้รับประโยชน์ไม่อาจเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกของ ส. หรือทายาทโดยธรรมจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการมรดกของ ท. จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ของต้นเงิน 5,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 นายสุรศักดิ์ ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยจำนวนเงินเอาประกันภัย 5,000,000 บาท กำหนดให้นางเทียมจันทร์ ป็นผู้รับประโยชน์ปรากฏตามตารางแห่งกรมธรรม์ประกันชีวิต นายสุรศักดิ์ผู้เอาประกันจดทะเบียนสมรสกับนางเทียมจันทร์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2532 ปรากฏตามสำเนาทะเบียนการสมรส เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2540 นายสุรศักดิ์และนางเทียมจันทร์ถึงแก่ความตายภายในห้องพักเดียวกันด้วยสาเหตุกระสุนปืนทำลายสมอง โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางเทียมจันทร์ตามคำสั่งศาล โจทก์เรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้รับประกันชีวิตของนายสุรศักดิ์ชำระเงินตามสัญญาประกันชีวิตแก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเทียมจันทร์ แต่จำเลยปฏิเสธความรับผิดโดยกล่าวอ้างว่านางเทียมจันทร์ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายก่อนที่นายสุรศักดิ์ผู้เอาประกันจะถึงแก่ความตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ดังกล่าว และจำเลยได้ขอบอกล้างสัญญาประกันชีวิตแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่นายสุรศักดิ์ ถึงแก่ความตายนั้น นางเทียมจันทร์ ในฐานะผู้รับประโยชน์มีสิทธิเรียกให้จำเลยผู้รับประกันชีวิตจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันชีวิตหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จากการตรวจศพของผู้เชี่ยวชาญพบว่าเลือดของนายสุรศักดิ์มีเชื้อโรคทำให้เกิดการเน่าก่อนนางเทียมจันทร์ จึงแปลความได้ว่านายสุรศักดิ์ถึงแก่ความตายก่อนนางเทียมจันทร์ดังนั้นนางเทียมจันทร์ผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าประกันชีวิตตามสัญญาประกันชีวิตของนายสุรศักดิ์ เห็นว่า การที่นายสุรศักดิ์ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโดยระบุให้นางเทียมจันทร์เป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายสุรศักดิ์และนางเทียมจันทร์ต่างถึงแก่ความตาย ซึ่งไม่ว่านางเทียมจันทร์จะถึงแก่ความตายก่อนหรือหลังนายสุรศักดิ์นางเทียมจันทร์ก็ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อนางเทียมจันทร์ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของนายสุรศักดิ์ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่านางเทียมจันทร์จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์และไม่ถือว่าเงินตามกรมธรรม์ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่นางเทียมจันทร์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้นตกเป็นของกองมรดกนางเทียมจันทร์ กรณีต้องถือว่านางเทียมจันทร์ผู้รับประโยชน์ไม่อาจเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของนายสุรศักดิ์ ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของนายสุรศักดิ์ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกของนายสุรศักดิ์หรือทายาทโดยธรรมจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของนายสุรศักดิ์ เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการมรดกของนางเทียมจันทร์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของนายสุรศักดิ์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share