แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาท โดยโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 นำป้ายไปปักในที่ดินของโจทก์ และอ้างว่าเป็นที่สาธารณะตะกาดวังหินของจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์โดยการครอบครอง ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องดังนี้ จึงเห็นได้ว่าโจทก์เป็นผู้ยึดถือครอบครองที่พิพาท แต่เมื่อถูกจำเลยรบกวนสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ยึดถือครอบครองอยู่ และจำเลยก็ได้แย้งสิทธิในทรัพย์พิพาทว่าเป็นที่สาธารณะ ถือว่าโจทก์จำเลยมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นในทรัพย์นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาทได้ หาใช่เป็เรื่องโจทก์ฟ้องขอให้ศาลแสดงว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาท โดยโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอให้ศาลพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องไม่
แม้โจทก์ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่พิพาทภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดซึ่งตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 5 บัญญัติให้ถือว่าโจทก์มีเจตนาสละสิทธิครอบครองก็ดี ก็เป็นเรื่องของรัฐที่จะว่ากล่าวกับผู้ยึดถือครอบครองที่ดินนั้นเองแต่คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะเทศบาลตำบลชะอำ และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัว ที่เข้ามารบกวนสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ยึดถือครอบครองอยู่ โจทก์หาได้พิพาทกับรัฐโดยตรงไม่ และเมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ถ้าไม่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินจำเลยก็ไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือถ้าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ก็อาจอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ เป็นผู้ดูแลจัดการคุ้มครองป้องกันก็ได้ หาใช่อำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเทศบาลตำบลไม่ ดังนั้นศาลจะพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่ซื้อที่ดินจากนายปาน ทับเอี่ยม เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ และครอบครองตลอดมา ต่อมาจำเลยที่ ๒ นำป้ายไปปักในที่ดินของโจทก์อ้างว่าเป็นที่สาธารณะตะกาดวังหินของจำเลยที่ ๑ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสี่โดยการครอบครอง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องต่อไป
จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ตะกาดวังหินอยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ ๑ นายปาน ทับเอี่ยม ไม่เคยจับจองหรือครอบครองแสดงตนเป็นเจ้าของ โจทก์เองก็ไม่มีสิทธิครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นที่ซึ่งโจทก์ที่ ๑ มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ยกฟ้องโจทก์ที่ ๒,๓ และ ๔
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ที่ ๑ ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องและที่พิพาทไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในเรื่องอำนาจฟ้องมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ ๒ ประการ คือประการแรกว่าตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์จะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาท โดยโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ นำป้ายไปปักในที่ดินของโจทก์อ้างว่าเป็นที่สาธารณะตะกาดวังหินของจำเลยที่ ๑ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์โดยการครอบครอง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ดังนี้จึงเห็นได้ว่าโจทก์เป็นผู้ยึดถือครอบครองที่พิพาท แต่เมื่อถูกจำเลยรบกวนสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ยึดถือครอบครองอยู่ และจำเลยก็โต้แย้งสิทธิในทรัพย์พิพาทว่าเป็นที่สาธารณะตะกาดวังหินของจำเลยที่ ๑ ถือว่าโจทก์จำเลยมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นในทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องในทรัพย์ที่พิพาทนั้นได้หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแสดงว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาทโดยโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอให้ศาลพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างมาในคำแก้ฎีกา รูปคดีไม่ตรงกับคดีนี้
ส่วนปัญหาประการที่สองที่ว่าที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน โจทก์ได้ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ แต่ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามแบบ ส.ค.๑ ถือว่ามีเจตนาสละการครองครองเป็นเจ้าของที่พิพาทหรือไม่ และมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่าแม้โจทก์ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่พิพาทภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๕ บัญญัติให้ถือว่าโจทก์มีเจตนาสละสิทธิครอบครองที่ดินก็ดี ก็เป็นเรื่องของรัฐที่จะว่ากล่าวกับผู้ยึดถือครอบครองที่ดินนั้นเอง แต่คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ในฐานะเทศบาลตำบลชะอำ และจำเลยที่ ๒ ในฐานะส่วนตัวที่เข้ามารบกวนสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ยึดถือครอบครองอยู่ โจทก์หาได้พิพาทกับรัฐโดยตรงไม่ เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าที่พิพาทดังกล่าวจะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ถ้าฟังว่าที่พิพาทไม่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินจำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ถ้าฟังว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ยังมีปัญหาต่อไปว่า เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใด เพราะถ้าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน หรือนัยหนึ่งที่สาธารณประโยชน์ก็อาจอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอเป็นผู้ดูแลจัดการคุ้มครองป้องกันก็ได้ หาใช่อำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ที่จะดูแลและดำเนินการคุ้มครองป้องกันไม่ เหตุนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงในปัญหาว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ประเภทใดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยนัยดังกล่าวมานี้แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ