คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยทั้งสามในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 3 ก็ได้ยื่นคำร้องชี้แจงเหตุผลในการที่จำเลยทั้งสามมีความจำเป็นจะต้องขอเลื่อนการสืบพยานเนื่องจากในระหว่างเดินทางมาศาล ได้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์บรรทุกสิบล้อชนกับรถยนต์บรรทุกหกล้อเป็นเหตุให้ขวางการจราจร ทำให้รถยนต์ประจำทางที่จำเลยที่ 3 นั่งมาเสียเวลาและจำเลยที่ 3 เดินทางมาถึงศาลเวลา 9.40 น.ทั้งเสียเวลาหาห้องพิจารณาคดี จึงรออยู่จนทนายจำเลยทั้งสามมาพบ ขอให้ศาลนำคดีขึ้นพิจารณาใหม่เพื่อให้โอกาสจำเลยนำพยานเข้าสืบต่อสู้คดี กรณีเช่นนี้ถือว่าจำเลยที่ 3ได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นไว้แล้ว จำเลยที่ 3จึงอุทธรณ์ฎีกาได้ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ปรากฏว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสามเลื่อนคดีและถือว่าจำเลยทั้งสามไม่มีพยานมาสืบ งดสืบพยานจำเลยทั้งสามนั้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 และที่ 2มิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นไว้ทั้งที่มีโอกาสจะโต้แย้งได้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระต้นเงินตามสัญญากู้ยืมจำนวน 313,842 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า สัญญากู้ยืมตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน313,842 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญากู้คือวันที่ 26 ตุลาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสามเลื่อนคดีและถือว่าจำเลยทั้งสามไม่มีพยานมาสืบจึงให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสามเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาการที่จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538อ้างเหตุที่ไม่สามารถมาศาลตามกำหนดนัดเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถยนต์จะถือได้หรือไม่ว่าจำเลยที่ 3 โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้แล้ว จำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ในข้อนี้เห็นว่าหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยทั้งสามแล้ว จำเลยที่ 3ก็ได้ยื่นคำร้อง ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 ชี้แจงเหตุผลในการที่จำเลยที่ 3 มีความจำเป็นที่จะต้องขอเลื่อนการสืบพยานเนื่องจากในระหว่างเดินทางมาศาลจังหวัดนครปฐม จำเลยที่ 3นั่งรถยนต์ประจำทางสายสุพรรณบุรี-กรุงเทพฯมา ได้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์บรรทุกสิบล้อชนกับรถยนต์บรรทุกหกล้อที่บริเวณทุ่งรางเทียนขวางการจราจร ทำให้รถยนต์ประจำทางที่จำเลยที่ 3 นั่งมาเสียเวลาและจำเลยที่ 3 เดินทางมาถึงศาลเวลา 9.40 นาฬิกา ทั้งเสียเวลาหาห้องพิจารณาคดี จึงรออยู่จนทนายจำเลยทั้งสามมาพบ จำเลยที่ 3มิได้จงใจประวิงคดี ขอให้ศาลนำคดีขึ้นพิจารณาใหม่เพื่อให้โอกาสจำเลยนำพยานเข้าสืบต่อสู้คดี กรณีจึงถือว่าจำเลยที่ 3ได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นไว้แล้ว จำเลยที่ 3 จึงอุทธรณ์ฎีกาได้ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสามเลื่อนคดี และถือว่าจำเลยทั้งสามไม่มีพยานมาสืบจึงให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสามนั้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นไว้ทั้งที่มีโอกาสจะโต้แย้งได้จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1และที่ 2 มาเป็นการมิชอบ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นชอบแล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาข้อนี้มาเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน
ข้อที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 3 มาไม่ทันเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดนัดและจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 29พฤศจิกายน 2539 ชี้แจงถึงสาเหตุที่มาศาลล่าช้า จะถือได้หรือไม่ว่าจำเลยที่ 3 ประวิงคดี ในข้อนี้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 3มาศาลล่าช้ากว่าเวลากำหนดนัดสืบพยานจำเลยของศาลชั้นต้นและได้ยื่นคำร้องดังกล่าวในวันเดียวกับอ้างเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถมาศาลได้ทันตามกำหนดนัดเนื่องจากรถยนต์บรรทุกชนกันกีดขวางทางจราจร ทำให้รถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 3 นั่งมาได้ถึงศาลจังหวัดนครปฐม เวลา 9.40 นาฬิกา ล่าช้ากว่ากำหนดนัดของศาลและจำเลยที่ 3 ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรและไม่ทราบว่าต้องขึ้นไปห้องพิจารณาคดีใด จึงรอทนายจำเลยทั้งสามลงมาพบ จำเลยที่ 3 มิได้จงใจประวิงคดีหรือไม่มาศาลนั้น พฤติการณ์ทั้งหมดของจำเลยที่ 3 หากเป็นความจริง กรณียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3จงใจประวิงคดีให้ล่าช้า และเป็นความผิดของจำเลยที่ 3ที่ไม่ดำเนินการให้ได้พยานมาสืบ ควรให้โอกาสจำเลยที่ 3ได้ดำเนินการอีกสักนัดหรือสองนัดก่อน จึงจะควรถึงขั้นพิจารณาว่าจำเลยที่ 3 ประวิงคดีหรือไม่ต่อไป กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3ประวิงคดี ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้จำเลยที่ 3 นำพยานเข้าสืบต่อไป แล้วให้โจทก์นำพยานเข้าสืบหักล้างได้ เสร็จแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share