คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6889/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นสินสมรสของจำเลยกับนาง ท. ซึ่งการนำไปจำนองแก่ผู้ร้องเป็นการจัดการสินสมรสที่นาง ท. กับจำเลยต้องจัดการร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476(1) แม้จะฟังว่านาง ท. จำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่ผู้ร้องโดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลยผู้เป็นสามีก็ตาม แต่ผลก็คือจำเลยอาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 แต่ตราบใดที่ศาลยังมิได้เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทระหว่างนาง ท.กับผู้ร้องย่อมมีผลผูกพันกันตามกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ฟ้องคดีต่อศาลขอให้เพิกถอนการจำนอง ผู้ร้องจึงชอบที่จะได้เงินจากการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทในส่วนที่เป็นของจำเลยด้วย โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนอง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ตาม ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มิได้แก้ไขในเรื่องนี้ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 48846 ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 11/1 หมู่ที่ 7 ตำบลเหมืองง่าอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งมีชื่อนางทองม้วน สุภาวงศ์ ภริยาจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า นางทองม้วน สุภาวงศ์ ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทประกันหนี้เงินกู้ไว้แก่ผู้ร้องเป็นเงินจำนวน 1,500,000 บาท วันที่ 7 มิถุนายน 2537 นางทองม้วนเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่1,921,141.24 บาท และต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองของนางทองม้วนจึงชอบที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องมีสิทธิรับเงินจากการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทก่อนเจ้าหนี้อื่น

โจทก์คัดค้านว่า ทรัพย์สินที่โจทก์ยึดไว้เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนางทองม้วนที่ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างเป็นสามีภริยานางทองม้วนกู้เบิกเงินเกินบัญชีและจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันไว้กับผู้ร้อง จำเลยไม่ได้ให้ความยินยอมและรู้เห็นแต่อย่างใด นางทองม้วนจึงต้องรับผิดต่อผู้ร้องเพียงเฉพาะส่วนของนางทองม้วน ผู้ร้องจึงมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินพิพาทเพียงครึ่งหนึ่ง ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเท่านั้น ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2536 นางทองม้วน สุภาวงศ์ ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารผู้ร้องสาขาลำพูนจำนวนเงิน 1,800,000 บาท ตามเอกสารหมาย ร.3 และ ร.4 จำเลยได้ทำหนังสือให้ความยินยอมแก่นางทองม้วน คู่สมรสของจำเลยทำนิติกรรมสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 1,800,000 บาท กับผู้ร้อง ตามหนังสือยินยอมเอกสารหมาย ร.5 และในวันเดียวกันนั้นนางทองม้วนได้จดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสของนางทองม้วนกับจำเลยไว้แก่ผู้ร้อง เพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย ร.6 และ ร.7 ต่อมาโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษา มีปัญหาวินิจฉัยว่าผู้ร้องชอบที่จะได้เงินจากการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองได้เพียงใด ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยกับนางทองม้วนได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2536 หลังจากที่หย่าแล้วนางทองม้วนจึงได้ไปทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและจดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทไว้แก่ผู้ร้อง การจำนองจึงไม่ผูกพันจำเลยนั้น เห็นว่าโจทก์มิได้ยกข้อดังกล่าวขึ้นคัดค้านให้เป็นประเด็นข้อพิพาทในศาลชั้นต้น จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมิได้ให้ความยินยอมแก่นางทองม้วนในการจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่ผู้ร้องนั้น เห็นว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นสินสมรสของจำเลยกับนางทองม้วนซึ่งการนำไปจำนองแก่ผู้ร้องเป็นการจัดการสินสมรส นางทองม้วนกับจำเลยต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1476(1) แม้จะฟังว่านางทองม้วนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่ผู้ร้องโดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลยผู้เป็นสามีตามที่โจทก์กล่าวอ้างก็ตาม แต่ผลก็คือจำเลยซึ่งเป็นสามีของนางทองม้วนอาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 แต่ตราบใดที่ศาลยังมิได้เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทระหว่างนางทองม้วนกับผู้ร้องย่อมมีผลผูกพันกันตามกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ฟ้องคดีต่อศาลขอให้เพิกถอนการจำนองผู้ร้องจึงชอบที่จะได้เงินจากการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทในส่วนที่เป็นของจำเลยด้วย โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ตามปรากฏว่าศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มิได้แก้ไขในเรื่องนี้ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษายืน

Share