แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1548วรรคแรกบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไว้ว่าบิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็กมิใช่เพียงแต่เด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดาเท่านั้นดังข้อความที่บัญญัติไว้เดิมแสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ประสงค์วางหลักเกณฑ์ไว้เข้มงวดกว่าเดิมนอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1548ยังได้บัญญัติถึงทางแก้ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กไม่อาจให้ความยินยอมไว้ว่าการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรจะกระทำได้ต้องมีคำพิพากษาของศาลและให้บิดานำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้อันเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นชัดเจนว่าประสงค์ให้เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมเป็นการเฉพาะตัวดังนั้นที่โจทก์ทั้งสามฎีกาอ้างว่าโจทก์ที่2เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ที่3โจทก์ที่2จึงให้ความยินยอมแทนโจทก์ที่3ได้นั้นจึงฟังไม่ขึ้นเพราะไม่มีกฎหมายบทใดบัญญัติให้โจทก์ที่2ทำการแทนโจทก์ที่3ในกรณีดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 หรือให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันจดทะเบียนโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 เพิกถอนหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท.0302/4227 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2536และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าทดแทนความเสียหายจำนวน 1 บาท แก่โจทก์ทั้งสามด้วย
จำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสี่มิได้กระทำละเมิดและไม่ต้องรับผิดโจทก์ทั้งสาม ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 3เป็นบุตรนอกกฎหมายของโจทก์ที่ 1 ที่โจทก์ที่ 1 ยอมรับแล้วขณะที่โจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น โจทก์ที่ 3 อายุประมาณ 5 เดือน คู่ความตกลงกันให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ที่ 3 มีอำนาจให้ความยินยอมแทนโจทก์ที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคแรกหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การแสดงเจตนาให้ความยินยอมของเด็กในการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคแรก เด็กต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง อันเป็นการเฉพาะตัวมารดาไม่อาจแสดงเจตนาให้ความยินยอมแทนได้ โจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจให้ความยินยอมแทนโจทก์ที่ 3 ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรนอกกฎหมายของโจทก์ที่ 1 ที่โจทก์ที่ 1 ยอมรับแล้วและขณะที่โจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น โจทก์ที่ 3 มีอายุประมาณ 5 เดือน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า การให้ความยินยอมของโจทก์ที่ 3 ที่จะเป็นผลให้โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548วรรคแรก เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 3 จะต้องกระทำด้วยตนเองหรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคแรกบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไว้ว่า บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 มาตรา 32 โดยข้อความเดิมได้บัญญัติถึงการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะกระทำได้ต่อเมื่อเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดาเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ประสงค์วางหลักเกณฑ์ไว้เข้มงวดกว่าเดิมว่าการที่บิดาจะจดทะเบียนบุตรนอกกฎหมายให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย จะกระทำได้ต่อเมื่อทั้งเด็กและมารดาเด็กให้ความยินยอมมิใช่เพียงแต่เด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดาดังบัญญัติไว้เดิม นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1548 ได้บัญญัติถึงทางแก้ในกรณีที่เด็กไม่อาจให้ความยินยอมได้ไว้ในวรรคสามและวรรคสี่โดยวรรคสามว่า “ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล” และวรรคสี่ว่า “เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้” อันเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นชัดเจนว่า ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1548 วรรคแรก ประสงค์ให้เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมเป็นการเฉพาะตัว จึงได้บัญญัติทางแก้ไขในกรณีเด็กไม่อาจให้ความยินยอมได้ดังกล่าวมาแล้ว ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาอ้างว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 2 จึงให้ความยินยอมแทนโจทก์ที่ 3ได้นั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะไม่มีกฎหมายบทใดบัญญัติให้โจทก์ที่ 2ทำการแทนโจทก์ที่ 3 ในกรณีดังกล่าวได้ ดังนั้น กรณีที่โจทก์ที่ 3ต้องให้ความยินยอมในการที่โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคแรกเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน