คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6864/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมเป็นเอกสารประกอบในการขายรถยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร และการที่จำเลยที่ 2 ใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมก็โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบในการขายรถยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยเจตนาอันเดียวกัน เพื่อให้การกระทำความผิดฐานรับของโจรสำเร็จผลตามความมุ่งหมายเท่านั้น ดังนั้น การใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ และใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์อันเป็นเอกสารราชการปลอมของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานรับของโจร ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 264, 265, 268, 335, 357, 83, 91, 33, 32 ริบของกลาง และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน เป็นเงิน 21,600 บาท แก่นางสาวรุจิราภรณ์ผู้เสียหาย และขอให้นับโทษของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8892/2543 ของศาลอาญาธนบุรี
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 (ที่ถูกมาตรา 357 วรรคแรก) ลงโทษฐานรับของโจร จำคุก 4 ปี และมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ฐานใช้เอกสารราชการปลอม จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน และ 2 ปี รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง ริบแผ่นป้ายทะเบียนและใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามอุทธรณ์และฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานรับของโจรและใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์อันเป็นเอกสารราชการปลอมจริงตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังว่าได้จำเลยที่ 2 ได้ใช้ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอมเป็นเอกสารประกอบในการขายรถยนต์ของกลางของผู้เสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขาย โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจรและใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอมจริงตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งวินิจฉัยว่าความผิดฐานรับของโจรและใช้เอกสารราชการปลอมเป็นความผิดต่างกรรมกันและเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมก็โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบในการขายรถยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้การกระทำความผิดฐานรับของโจรสำเร็จตามความมุ่งหมายเท่านั้น ดังนั้น การใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์อันเป็นเอกสารราชการปลอมของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานรับของโจร หาใช่เป็นความผิดคนละกรรมกันดังที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 มาไม่ และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาโต้เถียงมา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share